10 นิสัยทำลายสมอง

สมองนั้นเป็นอวัยวะที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งมีความสามารถในการเรียนรู้ เพราะสมองเป็นแหล่งที่รวบรวมความรู้ทั้งทางด้านตรรกะและด้านศิลปะ แต่คนเรานั้นมักจะไม่ค่อยดูแลสมองของตนเองมากนัก ด้วยนิสัยที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นเหตุให้สมองถูกทำลาย และนิสัยที่สามารถจะทำลายสมองได้นั้นมีดังนี้
1. ไม่กินอาหารเช้า หลายคนคิดว่าไม่กินอาหารเช้าแล้วจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่นี่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้สมองเสื่อม
2. กินอาหารมากเกินไป การกินอาหารมากเกินไปจะมีสาเหตุทำให้เลือดในสมองแข็งตัว เป็นเหตุให้เกิดโรคความจำสั้น
3. การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมอง
4. กินของหวานมากเกินไป การกินของหวานมากๆ จะไปขัดขวางการดูดกลืน โปรตีน และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เป็นสาเหตุของการขาดสารอาหาร และขัดขวางการพัฒนาของสมอง
5. มลพิษ สมองเป็นส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดในร่างกาย การสูดเอาอากาศที่เป็นมลพิษเข้าไปจะทำให้ออกซิเจนในสมองน้อย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองทำงานได้น้อยลง
6. การอดนอน การนอนหลับจะทำให้สมองได้พักผ่อน การอดนอนเป็นเวลานานจะทำให้เซลล์สมองตายได้
7. การนอนคลุมโปง จะเป็นการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น และลดออกซิเจนให้น้อยลง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
8. ใช้สมองในขณะที่ไม่สบาย การทำงาน เรียนในขณะที่ป่วย จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง เหมือนกับเป็นการทำร้ายสมองไปในตัว
9. ขาดการใช้ความคิด การคิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการฝึกสมอง ถ้าขาดการใช้ความคิดจะทำให้สมองฝ่อ
10. เป็นคนไม่ค่อยพูด ทักษะการพูดเป็นตัวแสดงถึงประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
เมื่อได้ทราบถึงผลเสียที่เกิดจากนิสัยของเราเองแล้ว เราควรที่จะปรับเปลี่ยนนิสัยนั้น แล้วหันมาดูแลสมองของตนเอง เพื่อความสุขและสมองที่มีสุขภาพดีขึ้นของเราด้วย

ความสำคัญของบรรณาธิการหนังสือ



เมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) หรือยุคสารสนเทศ(information age) ซึ่งคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญของสารสนเทศเปรียบเสมือนพลังหรืออำนาจ ใครที่ครอบครองและสามารถใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด คนผู้นั้นเสมือนผู้มีอำนาจอยู่ในมือ ด้วยประการนี้ทำให้ผู้คนเร่งที่จะหาความรู้ เพื่อเพิ่มระดับความรู้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษานั้นถือเป็นรูปแบบที่สำคัญของการเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อที่จะให้เท่าทัน เท่าทันต่อโลกที่ปรับเปลี่ยนและสลับซับซ้อนอยู่เสมอ ซึ่งในการศึกษาเล่าเรียนนั้น ก็ต้องมีคู่มือที่เรียกว่า ‘ตำราหรือหนังสือ’ รวมไปถึงวารสารนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เพราะการศึกษาไม่ได้กำหนดให้ผู้เรียน เรียนรู้แต่ในตำรับตำราเพียงอย่างเดียว ทำให้ในปัจจุบันมีการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เรารู้จักกันในคำว่า ‘หนังสือ’ ขึ้นมามากมายโดยไม่ได้จำกัดแค่หนังสือเรียนหรือหนังสือวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งหนังสือวรรณกรรมต่างๆ, หนังสือนิทานสำหรับเด็ก. หนังสือพิมพ์รวมทั้งนิตยสารวารสาร เป็นต้น ทั้งที่ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ซึ่งหนังสือทุกเล่มนั้นมีกระบวนการของการผลิตที่สลับซับซ้อนต้องอาศัยความรู้ความสามารถโดยตรง ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่า กว่าจะมาเป็นหนังสือนั้น มีที่มาอย่างไร และมีการจัดการการกับการตีพิมพ์ เผยแพร่ เลือกเฟ้นเนื้อหา และถ้อยคำบทความที่เหมาะสมมาได้อย่างไร แม้กระทำการจัดทำรูปเล่มหนังสือ ซึ่งกว่าจะออกมาในรูปแบบที่สวยงามให้เราได้เห็นและเป็นเจ้าของนั้น ใครเป็นผู้ดูแลกระบวนการเหล่านี้ คนส่วนมากมักจะละเลยตรงจุดนี้ โดยมักจะสนใจกับความสวยงามของรูปเล่มหรือแค่ความนิยมชมชอบในตัวผู้เขียน ซึ่งกระบวนการของการผลิตหนังสือจะสำเร็จออกมาเป็นเล่มไม่ได้เลยถ้าเราขาดผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านภาษา และมีความรักในตัวอักษร(ทุกตัว)ซึ่งสามารถนำสิ่งต่างๆมาปรุงแต่งได้อย่างคมคาย ออกมาเป็นหนังสือที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ความถูกต้อง และความงามทางภาษา ซึ่งเราเรียกบุคคลผู้นี้ว่า ‘บรรณาธิการ (Editor)’ ราชบัณฑิตยสถาน(2538, หน้า 461) ให้คำนิยามไว้ว่า บรรณาธิการ คือ ผู้จัด เลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุงและรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์ บรรณาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว ให้ต้นฉบับงานเขียนสำเร็จเป็นสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยอาจดำเนินการคนเดียว หลายคน หรือเป็นคณะ และอาจมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะ ปริมาณ ความลึกซึ้งหรือหลากหลาย ความซับซ้อนของส่วนประกอบเนื้อหา หรือโอกาสสำคัญที่จะจัดพิมพ์ต้นฉบับงานเขียนชิ้นนั้น เราจะเห็นได้ว่าบรรณาธิการนั้นได้ทำหนังสือให้ออกมาให้ดีที่สุดเพื่อผู้อ่านแบบที่เรียกว่า ‘ปิดทองหลังพระ’ เพราะทำงานโดยใช้ความรู้ที่มีอยู่และใจรัก


หัวใจของบรรณาธิการคือ การเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์คือสิ่งพิมพ์ ลูกค้าคือผู้อ่าน ทำอย่างไรให้ตันฉบับกลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ประณีตด้วยเทคนิค เนื้อหาทรงคุณค่าให้ประโยชน์คุ้ม และได้รับการยกย่องในวงการ (จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 4-5)
งานบรรณาธิการเป็นงานอีกอาชีพหนึ่ง ที่ต้องใช้ศาสตร์ความรู้ด้านบรรณาธิการ(Editing) มาใช้ในการทำงาน เพื่อใช้กระบวนการจัดทำหนังสือเป็นไปอย่างราบรื่น จนสามารถผลิตหนังสือที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล การจัดพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราว ค.ศ. 868 และมีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันมีวิธีการและแนวปฏิบัติจนเกิดเป็นระบบการจัดทำหรือการผลิตหนังสือตามมาตรฐานขึ้น โดยอาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดบางประเด็น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูปแบบการจัดทำที่สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในอาเซียที่มีการผลิตหนังสือที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น




การพิมพ์และการผลิตหนังสือในเมืองไทย เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการผลิตหนังสือพิมพ์รายวันและหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่มในรูปแบบนิตยสาร วารสาร และหนังสือเป็นเล่ม พัฒนาการทางการพิมพ์ และการจัดทำหนังสือในเมืองไทยมีความเจริญรุดหน้ามาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบการพิมพ์ที่ทันสมัยในปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความเจริญในด้านระบบการพิมพ์และการผลิตสิ่งพิมพ์ก้าวหน้าไม่น้อยกว่าประเทศใดในแถบอาเซีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น แต่พัฒนาการด้านการจัดทำหนังสือ ในแง่ของการเขียนเนื้อหาสาระและการเปลี่ยนสภาพต้นฉบับงานเขียนให้ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือที่น่าอ่านตามมาตรฐานสากล หรือที่เรียกว่า “การบรรณาธิการ” นั้น กล่าวได้ว่า แทบไม่มีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งในแง่การปฏิบัติจริงในสำนักพิมพ์ทั้งหลายหรือในแง่การศึกษาเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ในขณะที่การจัดทำหนังสือพิมพ์รายวัน หรือการจัดทำนิตยสาร/วารสาร มีการเรียนรู้ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีผู้สำเร็จการศึกษาออกมาปฏิบัติงาน สืบทอดวัฒนธรรมการทำหนังสือพิมพ์ตามมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง

ในทางกลับกัน การจัดทำหนังสือเล่มยังไม่มีบุคลากรมืออาชีพ หรือบรรณาธิการมืออาชีพมาสืบสานวัฒนธรรมการผลิตหนังสือเล่มอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้รักการทำหนังสือเรียนรู้จากการปฏิบัติตามๆกันมา หรืออาจได้รับการอบรมเบื้องต้นมาบ้างจากสถาบันการศึกษา แต่เมื่อต้องมาปฏิบัติงานอย่างจริงจัง มักเกิดความไม่มั่นใจได้แต่อาศัยการศึกษาจากคู่มือปฏิบัติงานบรรณาธิกร ที่ผู้มีประสบการณ์ทางด้านนี้ได้รวบรวมไว้(จินตนา ใบกาซูยี, 2543, หน้า 6)
มกุฎ อรฤดี(2545) กล่าวในการอบรมวิชาหนังสือสำหรับบุคคลภายนอก ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า กระบวนการผลิตหนังสือนั้น มีรายละเอียดอันละเอียดอ่อนประณีตมากมาย การจะเรียนรู้ รู้จัก รู้สึก นึกคิด และทำหนังสือให้ดี ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ข้อสำคัญคือ ต้องมีรากฐานด้านความงาม ภาษา เข้าใจความเรียบง่าย เข้าใจชีวิต สนใจและรู้จักมนุษย์ ใฝ่รู้วิทยาการทั้งสิ้นทั้งปวงอันประกอบกันขึ้นเป็นสังคมหน่วยเล็กหน่วยใหญ่ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต และไกลกว่าอนาคต ประเทศไทยยังขาดหนังสือ และขาดบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือทุกด้าน ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็น นักเขียน บรรณาธิการต้นฉบับ บรรณาธิการต้นฉบับแปล ผู้ตรวจทานต้นฉบับ ผู้เขียนรูปประกอบ ออกแบบปก จัดรูปเล่ม แม้แต่นักวิจารณ์หนังสือก็แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีเลยหรือกรรมการตัดสินต้นฉบับ กรรมการตัดสินหนังสือ อันเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริมการเขียนก็ขาดแคลน ส่งผลให้การพิจารณาต้นฉบับและหนังสือที่ส่งเข้าประกวดด้อยคุณค่าไปด้วย ดังเห็นได้จากหนังสือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลชนะเลิศหลายเล่ม มีข้อผิดพลาดด้านภาษาไทยและเนื้อหานับร้อยแห่งทั้งๆที่มีกรรมการมากกว่า7คน มีบรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้เขียนคำนิยมที่มีชื่อเสียงลงชื่อรับรอง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การทำงานด้านหนังสือโดยไม่มีผู้ตรวจทานทุกขั้นตอน ไม่เชื่อระบบบรรณาธิการและระบบการตรวจสอบ ข้อบกพร่องผิดพลาดต่างๆอันรวมกันเข้าจนทำให้หนังสือที่ผลิตออกมาด้อยคุณภาพนั้น มีจุดสรุปปลายทางอยู่ที่สำนักพิมพ์ ผู้ที่รับเคราะห์ก็คือคนอ่าน โดยเฉพาะที่เป็นเด็กและเยาวชน


ภารกิจของบรรณาธิการ
งานบรรณาธิการเป็นทั้งศิลปะและงานฝีมือ(Art and craft) คือศิลปะที่เป็นความรู้เกี่ยวกับต้นฉบับว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับงานนั้น และเป็นงานฝีมือในด้านการจัดเตรียมต้นฉบับให้น่าอ่านเป็นที่ยอมรับของผู้อ่านโดยทั่วไป (O’Connor, 1978, p.1) ภารกิจหลักของบรรณาธิการก็คือการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดมาเผยแพร่ รองลงมาก็คือการช่วยเหลือผู้เขียนเพื่อจัดทำหรือผลิตงานที่มีคุณภาพออกมา (O’Connor, 1978, p.19)
บรรณาธิการมีงานหลายด้าน ทั้งบริหาร จัดการ หาเทคนิคที่เหมาะสมมาใช้จัดพิมพ์ ถ้าทำหน้าที่เฉพาะด้านจะมีชื่อหรือตำแหน่งโดยเฉพาะ เช่น บรรณาธิการใหญ่หรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ (Chief Editor) รองบรรณาธิการใหญ่ (Associate Editor) บรรณาธิการต้นฉบับ (Copy Editor) บรรณาธิการศิลป์ (Art Editor) (จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 5) ในบางสำนักพิมพ์ มีการแบ่งแยกงานออกเป็นอิสระจากกันเป็น 2 ลักษณะ คือ บรรณาธิการฝ่ายจัดหาต้นฉบับหรือฝ่ายสำนักพิมพ์ และฝ่ายต้นฉบับหรืออฝ่ายวิชาการ บทบาทหน้าที่สำคัญของบรรณาธิการ คือ การทำให้หนังสือที่ผู้เขียนแต่งขึ้นมีความน่าอ่าน สำนักพิมพ์บางแห่งมีความคาดหวังสูงมาก กล่าวคือ ให้บรรณาธิการรับผิดชอบดูแลต้นฉบับ จนถึงขั้นการจัดพิมพ์ แต่บางแห่งเพียงให้ตรวจสอบด้านภาษา การสะกดคำ และการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเท่านั้น
จินตนา ใบกาซูยี(2542, หน้า 326) กล่าวว่า โดยสรุป ภารกิจหลักของบรรณาธิการมี 2 ประการ คือ การจัดหาต้นฉบับและการบรรณาธิกรต้นฉบับ การบรรณาธิกรประกอบด้วย การตรวจแก้โครงสร้าง เนื้อหาสาระสำคัญ และการตรวจแก้ต้นฉบับทั้งเล่ม
บรรณาธิการฝ่ายจัดหาต้นฉบับ จะทำหน้าที่เสาะแสวงหาต้นฉบับและเจรจาต่อรองการทำสัญญากับผู้เขียน รวมทั้งพิจารณาต้นฉบับอย่างละเอียดในด้านขอบเขตเนื้อหา โครงสร้างความยาวของเนื้อหา รวมทั้งตรวจหาข้อความอันเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นอย่างร้ายแรง และการละเมิดลิขสิทธิ์
การที่มีข้อความระบุไว้ในสิ่งพิมพ์บางชิ้น เช่นในวารสาร ว่า บรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับความเห็นของผู้แต่ง ก็ไม่หมายความว่าบรรณาธิการจะปลอดจากความรับผิดชอบที่ได้พิมพ์เผยแพร่เรื่องนั้นไปได้โดยเฉพาะถ้าเป็นความเห็นในประเด็นที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทเป็นลายลักษณ์อักษรหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี จรรยาบรรณของนักวารสารศาสตร์เป็นสิ่งที่บรรณาธิการละเลยไม่ได้ (จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 5)
นอกจากนี้ ยังต้องประเมินแนวโน้มความต้องการของผู้อ่าน และรูปแบบช่องทางการจำหน่ายอีกด้วย อีกด้านหนึ่ง บรรณาธิการฝ่ายนี้ ยังทำหน้าที่ว่าจ้างการเขียนหนังสือบางเล่มที่คิดว่าจะทำตลาดได้ดี และประเมินข้อเสนอการว่าจ้างจากผู้เขียน หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การแก้ไขโครงสร้างเนื้อหาต้นฉบับและการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ ดูแลการผลิตเอกสารด้านส่งเสริมการขายและการติดต่อกับผู้เขียน ในบางครั้งบรรณาธิการกลุ่มนี้ยังต้องช่วยออกแบบหนังสือ และดูแลจัดการด้านรายรับรายจ่ายของสำนักพิมพ์อีกด้วย
ในปัจจุบันนี้ ยังมีผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการประจำ (In-house) ทำงานเต็มเวลาอยู่บ้าง แต่มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนสำนักพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่แทบไม่มีผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการอย่างแท้จริงเลย นอกจากนี้ สำนักพิมพ์บางแห่งเริ่มมีแนวคิดที่จะจ้างบรรณาธิการการอิสระ (Freelancers) ทำงานเป็นชิ้นงาน โดยทั่วไปแล้วบรรณาธิการอิสระนี้ มักทำงานในขอบเขตหน้าที่ที่จำกัด กล่าวคือ ทำหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายต้นฉบับเฉพาะชิ้นงานเท่านั้น (จินตนา ใบกาซูยี, 2542, หน้า 327)

ขั้นตอนและวงจรงานของบรรณาธิการอาจลำดับได้ดังนี้
1.การวางแผนการทำงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ การแบ่งงาน การกำหนดผู้รับผิดชอบ ขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลา ประมาณการค่าใช้จ่าย การคาดคะเนผล
2.การจัดหาต้นฉบับ บรรณาธิการมีหน้าที่เสาะหาต้นฉบับที่มีข้อมูลถูกต้อง บอกเล่าอย่าตรงไปตรงมา มีการอ้างอิงแหล่งที่ดี สื่อความได้ชัดเจน ให้ความรู้สึกเพลินอารมณ์ ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และอยากเรียนรู้ต่อไป
3.การับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ กรณีเนื้อหามีความซับซ้อน หรือมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหรือข้อทักท้วง ทั้งในทางวิชาการหรือทางกฎหมาย
4.การทำความตกลงกับผู้เขียน กรณีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละฝ่าย การทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรจะรัดกุมกว่าด้วยวาจา ส่วนหนึ่งอาจนำไปสู่การทำสัญญาต่อไป งานด้านนี้อาจต้องมีนิติกรร่วมด้วย
5.การจัดทำแฟ้มต้นฉบับ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ เช่น การติดต่อระหว่างผู้เขียนกับบรรณาธิการ ข้อตกลง สัญญา ข้อมูล เนื้อหา ภาพ หลักฐานอ้างอิงที่ค้นเพิ่มเติมระหว่างการตรวจแก้ต้นฉบับ
6.ประมาณการและกำหนดรูปเล่ม ในด้านความยาวของเนื้อหา ขนาดรูปเล่ม ตัวพิมพ์ การวางรูปหน้ากระดาษ
7.การอ่านตรวจต้นฉบับอย่างละเอียด เรียกตามศัพท์บัญญัติว่า การบรรณาธิกรต้นฉบับ โดยใช้คู่มือตรวจตามแบบเฉพาะของสำนักพิมพ์เอง หรือ แบบเฉพาะอื่นๆ เพื่อตรวจแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง ทั้งด้านเนื้อหาและส่วนประกอบ ความต่อเนื่องของเนื้อหา ระบบการจัดโครงสร้างเนื้อหา การอ้างอิง รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น
8.การแจ้งให้ผู้เขียนรับรู้การแก้ไขต้นฉบับ การแก้ไขต้นฉบับขึ้นอยู่กับทั้งบรรณาธิการและผู้เขียน และเป็นเรื่องเฉพาะกรณี รวมทั้งการเก็บบันทึกเรื่องนี้ไว้ในแฟ้มต้นฉบับด้วย
9.การพิมพ์ต้นฉบับ โดยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบต่างๆ แล้วแต่สำนักพิมพ์
10.การตรวจพิสูจน์อักษร ต้องทำหลายครั้งและหลายคน ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน
(จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 4)
จากทุกๆหัวข้อที่กล่าวมานั้นเราจะเห็นได้ว่าในด้านการทำหนังสือนั้น หนังสือจะดีหรือไม่ดีนั้นจำเป็นจะต้องขึ้นอยู่ที่บรรณาธิการเพราะบรรณาธิการนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด บรรณาธิการนั้นจักต้องมีความพิถีพิถันตั้งแต่การเสาะแสวงหาสารสนเทศหรืองานเขียนที่ดีและมีประโยชน์ จากนั้นก็ต้องใช้ความประณีตในการตรวจทานอักษรของหนังสือทั้งเล่ม อีกทั้งต้องเลือกสรรสำนวนภาษาให้สละสลวยมีความถูกต้องและเกิดประโยชน์ รวมไปถึงการควบคุมการพิมพ์ เปรียบเสมือนประหนึ่งว่า เมื่อใดที่คิดจะทำอาหารที่ดีมีประโยชน์และรสชาติอร่อยนั้น เราต้องเสาะแสวงหาวัตถุดิบชั้นยอดจากทุกๆที่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อเราได้วัตถุดิบมาแล้ว ต่อให้วัตถุดิบนั้นดีแค่ไหน แต่ขาดคนปรุงแต่งก็ไร้ค่า ดังนั้นจึงต้องอาศัยกุ๊กยอดฝีมือ ที่มีฝีมือในการคัดสรรเลือกใช้วัตถุดิบอย่างสร้างสรรค์และต้องเกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีใจรักทำอาหาร มีความรู้ความสามารถในการปรุงแต่งอาหารให้ได้รสเลิศ รวมไปถึงมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดตกแต่งให้สวยงามพร้อมเสริฟ…โดยที่ผู้รับประทานนั้นรับประทานจนหมดเกลี้ยงจานพร้อมกับได้รับความสุขทางใจและได้ประโยชน์จากสารอาหารที่ได้ใส่ลงไปในอาหาร เมื่อนั้นอาชีพบรรณาธิการก็เช่นกันเพราะต้องลงลึกทุกรายละเอียด ลงมือทำด้วยสมอง สติปัญญา จิตวิญญาณและศรัทธาที่พร้อมจะผลิตหนังสือดีๆออกมา ให้ผู้คนได้อ่านเพื่อที่จะได้ซึมซับในความรักในการอ่านและความรักที่มีต่อหนังสือพร้อมกับนำความรู้ต่างๆที่เรียงรายอยู่ในนั้นออกมาใช้เพื่อนำความก้าวหน้ามายังประเทศและนำความจริงที่ถูกต้องมาสู่สังคมสืบต่อไป

บทสัมภาษณ์อาจารย์



ชื่อ ผศ.ฉลวย นามสกุล มงคล เพศ หญิง อายุ ๕๗ ปี
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยบูรพา
สัมภาษณ์วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เวลา ๑๑.๓๐-๑๓.๐๐ น.

สัมภาษณ์ในหัวข้อ หนังสือและงานบรรณาธิการ



"ทุกวันนี้อยากฝากความหวังไว้กับพวกหนูที่จะทำหนังสือที่ดีมีคุณภาพออกมา"

สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาว นารีญา ซาฮิบ เเละ กระผมนาย เอกสิทธิ์ เทียมธรรม

นิสิตชั้นปีที่ ๒ สาขาวิชาบรรณาธิการศึกษา ภาควิชาสารสนเทศศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ฉลวย มงคล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา



ผู้สัมภาษณ์ : สวัสดีค่ะอาจารย์ ก่อนอื่น ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยเล่าประวัติความเป็นมาอย่างย่อๆของอาจารย์ด้วยค่ะ
อาจารย์ : ยินดีค่ะ อาจารย์ชื่อฉลวย มงคล ตามที่หนูกล่าวมาแล้ว เดิมทีเนี่ยอาจารย์เป็นคนจังหวัดอ่างทองค่ะ อาจารย์จบการศึกษาขั้นต้นอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง จบ ป.๗ ปัจจุบันก็เป็นประถมศึกษาปีที่ ๖ เรียนต่อที่ ม.๑ จนจบ หลังจากนั้นก็มาเรียนต่อ บกศ. ประกาศนียบัตรชั้นต้น ๒ ปี และได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อ บกศ. ชั้นสูงวิชาครูเหมือนกันอีก ๒ ปี ตอนนั้นเลือกเป็นเอกภาษาไทย วิชาโทภาษาอังกฤษและสังคม เรียนวิทยาลัยการศึกษาพระนคร ๒ ปี และย้ายมาเรียนที่บางแสน ๒ ปี จะเห็นได้ว่าที่ชอบเรียนภาษาไทยมันอาจจะเกิดมาหลายอย่าง คือ อาจารย์เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และชอบแต่งกลอนและแข่งได้ที่ ๒ ของประเทศ ตอนนั้นอาจารย์ยังจำได้ว่า แต่งกลอนเป็นวันลอยกระทง ด้วยความที่เรายังเด็กและไม่คิดว่าเราจะได้รางวัล พอได้รับรางวัลมาทำให้รู้สึกภูมิใจ ทำให้เราอยากที่จะอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทำให้เราแต่งกลอนได้เก่งๆ อีกอย่าง แม่ของอาจารย์ก็เป็นคนที่อ่านหนังสือมากเหมือนกัน แต่แม่ของอาจารย์จบแค่ ป.๔ เองนะ แต่ถ้าเทียบป.๔ สมัยโน้นกับป.๖ สมัยนี้ ความรู้ป.๔ยังแน่นกว่าอีก พออาจารย์เนี่ยเลือกเรียนเอกไทย อาจารย์ก็จะมุ่งเประเด็นไปที่การเป็นครู เพราะอาจารย์ชอบสอน ชอบสอนพี่ สอนเพื่อน สอนน้อง อาจารย์ก็เลยไปสอบบรรจุที่จังหวัดสิงห์บุรี สอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แล้วก็ย้ายกลับมาที่ภูมิลำเนาเดิม คือจังหวัดอ่างทอง ก็สอนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษเหมือนเดิม พอ ๒๕๒๕ ศึกษาต่อปริญญาโทที่ศิลปากร วังท่าพระ ตอนนั้นยังไม่มีการทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์เลยจบออกมา ๒ ปีครึ่ง แล้วมาที่จังหวัดอ่างทอง แล้วมาช่วยราชการที่วิทยาลัยบางแสน พ.ศ ๒๕๓๕ และพอปี พ.ศ ๒๕๓๖ ก็มาบรรจุที่นี่เลยจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ก็สอนภาษาไทยและภาษาเขมรด้วย เพราะว่าอย่างที่เคยบอกแล้วว่าอาจาย์จบจารีตตะวันออก ภาษาเขมร




ผู้สัมภาษณ์ : อย่างที่อาจารย์เคยบอกว่าอาจารย์ชอบอ่านหนังสือ อาจารย์ชอบอ่านหนังสือแนวไหน ประเภทไหนคะ แล้วอาจาย์มีหนังสือที่จะแนะนำหนังสือให้กับคนสมัยใหม่ไหมคะ?
อาจารย์ : มีค่ะก็จะเป็นพวกร้อยกรอง บทกวีนิพนธ์สมัยเก่าๆ พวกนวนิยาย นวนิยายเนี่ยจะคล้ายคลึงกับคนสมัยนี้ คล้ายๆว่าจะสะท้อนปัญหาทางสังคม แต่ถ้าหนังสือที่แนะนำให้กับคนรุ่นใหม่ ก็อยากจะแนะนำพวกหนังสือพิมพ์ เพราะว่าเราต้องการความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เราจะได้ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง และอีกอย่างที่จะแนะนำต่อเด็กในสังคมสมัยนี้ที่ขาดกันมาก ก็คือ จำพวกวรรณกรรมและวรรณคดีต่างๆ หนูรู้จักขุนช้างขุนแผนไหมคะ ?
ผู้สัมภาษณ์ : (อมยิ้ม)
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์คิดว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ในปัจจุบัน มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างไร?
อาจารย์ : ถ้าเป็นรูปแบบเล่มก็คิดว่าดีอยู่แล้วนะ ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน อกีอย่างการทำหนังสือเล่มก็มีบรรณาธิการอย่างพวกหนูคอยดูแลอยู่ทุกขั้นตอน แต่ถ้าเป็นในรูปแบบของวารสาร คุณภาพก็เยอะนะอาจารย์ชอบอ่านหนังสือ สกุลไทย มีคอลัมน์หลากหลาย ไม่ได้มุ่งไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง




ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์คิดว่า ตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้อาจารย์คิดว่าอาจารย์อ่านหนังสือมามากพอหรือยังคะ?
อาจารย์ : อาจารย์คิดว่ายังไม่พอนะ การอ่านหนังสือยังไม่มีวันที่สิ้นสุด เราจะต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลา เพราะถ้าเกิดเราหยุดอ่าน ก็เหมือนเราหยุดอยู่กับที่ไม่ทันสมัย เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงยังไม่คิดว่ามันพอ สำหรับการอ่านของอาจารย์
ผู้สัมภาษณ์ : จากการวิจัยที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแล้วปีละไม่เกิน ๖ บรรทัด อาจารย์คิดยังไงกับข้อความนี้?
อาจารย์ : ความจริงข้อความนี้อาจารย์ได้พบได้เห็นมาเยอะ แต่เคยทราบถึงแหล่งที่มาไหม ว่าคนที่เค้าลงพื้นที่วิจัยน่ะ เค้าสำรวจจากประชากรที่ไหน ประชากรจากบนดอยหรือเปล่า หรือจากประชากรที่ไม่มีการศึกษา ลองคิดดูถ้าเกิดมาลงพื้นที่ที่ม.บูรพา คนตั้งหลายหมื่นคน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเฉลี่ยแล้วได้ปีละ ๖ บรรทัด เหมือนข้อความนี้เป็นการปลุกกระแสให้คนหันมาอ่านหนังสือกันมากกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุด เวลานิสิตเรียนนิสิตก็ต้องถูกให้อ่านหนังสืออยู่แล้ว ถึงแม้นิสิตจะไม่เต็มใจก็ตาม เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อความนี้





ผู้สัมภาษณ์ : ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามาในการให้ข้อมูลข่าวสารกับคนมากยิ่งขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอาจได้รับมาผิดๆ ถ้าเกิดมีผู้ดูและเกี่ยวกับการให้ข้อมูลข่าวสารตรงนี้ อาจารย์คิดว่ามันจะดี และเหมาะสมไหมคะ?
อาจารย์ : ที่เรียกตัวเองว่าเป็นบรรณาธิการใช่ไหม ก็ดีนะ อาจารย์คิดว่าดี เพราะว่าบรรณาธิการตามความคิดของอาจารย์ต้องเป็นผู้ดูแล จัดทำหนังสือ ตรวจแก้ดูภาษา เรียกง่ายๆคือทำตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับสิ่งที่ดีๆ เพราะฉะนั้นอาจารย์คิดว่า บรรณาธิการเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดทำหนังสือ หรือการให้ข้อมูลข่าวสาร
ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากที่สัมภาษณ์อาจารย์มาพอสมควรแล้ว อาจารย์พอจะทราบไหมว่ามหาวิทยาลัยของเรา ได้เปิดการเรียนการสอนบรรณาธิการศึกษา ของภาควิชาสารสนเทศศึกษา อาจาย์มีความคิดเห็นว่าอย่างไร?
อาจารย์ : อาจารย์ต้องตอบตามตรงว่าอาจารย์ไม่ทราบ เพราะเดิมทีภาควิชานี้เป็นภาคของวิชาบรรณารักษศาสตร์ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลหนังสืออยู่แล้ว ถ้าเปิดการบรรณาธิการการศึกษาขึ้นมาด้วย ก็เป็นการดี เพราะเหมือนเรามีความรู้เกี่ยวกับการดูแลหนังสืออยู่แล้ว เป็นการเกื้อหนุนกันเข้าไปใหญ่

ผู้สัมภาษณ์ : สุดท้ายนี้อยากให้อาจารย์ฝากอะไรเกี่ยวกับวงการหนังสือค่ะ
อาจารย์ : ในด้านการทำหนังสือ หนังสือจะดีหรือไม่ดี หนังสือจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่ที่บรรณาธิการ ความจริงแล้วอาจารย์เคยรู้จักกับบรรณาธิการที่ทำวารสารของมหาวิทยาลัยนี้ อาจารย์ได้เคยมีโอกาสได้เขียนบทความและมีโอกาสได้ตรวจทานอักษรของวารสารทั้งเล่ม อาจารย์ค่อนข้างที่จะเห็นการทำงานว่ามีความยากง่ายแค่ไหน ในอนาคตข้างหน้า ในฐานะที่หนูจะก้าวไปเป็นบรรณาธิการ อยากให้หนูผลิตหนังสือดีๆออกมา ให้คนอื่นได้อ่าน เพื่อนำความก้าวหน้ามายังประเทศและนำความจริงที่ถูกต้องมาสู่สังคม...



ผู้สัมภาษณ์ : ขอขอบพระคุณอาจารย์สำหรับวันนี้ ที่ให้ความกรุณาให้พวกหนูได้สัมภาษณ์อาจารย์ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์มาเป็นวิทยาทานให้ผู้อื่นต่อไป ขอขอบพระคุณค่ะ

เทศกาลกินเจ




ความหมายของ เจ


คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ แจมิได้แปลว่า อุโบสถ ในภาษาจีนมี(กลุ่ม)คำหรือวลีที่ใช้อักษรแจ(เจ, 齋 / 斋 )เป็นตัวประกอบร่วมด้วยหลายคำ แต่คำว่าโป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) ซึ่งเป็นศัพท์ของทางพุทธศาสนา ดูจะเป็นคำที่นิยมหยิบยกมาใช้อธิบายความหมายของอักษรแจเสมอมา
โป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) แปลว่า ศีลบริสุทธิ์แปดประการ ซึ่งก็คือ “ศีลแปด”ที่เรารูจักกันดี
คนไทยในรุ่นปู่ย่าตายายที่เคร่งในศีลวัตรจะไปอาราธนาศีลแปดจากพระสงฆ์ในวันธรรมสวนะภายในพระอุโบสถ ศีลแปดจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ อุโบสถศีล ” ผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องกินเจที่ไม่เข้าใจภาษาและที่มาของคำจึงแปลอักษรแจผิดว่า “อุโบสถ” ซึ่งคำแปลนี้ก็ฮิตติดตลาดและถูกคัดลอกไปใช้บ่อยอย่างน่ารำคาญใจ เพราะหากจะเอาตามความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแล้ว อุโบสถ เป็นคำนาม หมายถึง สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมต่างๆ เรียกย่อว่า โบสถ์การแปลและเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายวัตรปฏิบัติของการกินเจผิดตามไปด้วยว่า “การกินเจต้องถือศีลข้อวิกาลโภชน์” หรือการงดกินของขบเคี้ยวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลแปด ทั้งๆที่โรงครัวของศาลเจ้าหรือโรงเจที่เปิดเลี้ยงผู้คนในช่วงเทศกาลกินเจล้วนแต่มีอาหารมื้อเย็นให้กับผู้เข้าไปกิน ยิ่งวันที่มีการประกอบพิธีกรรมในตอนค่ำยังมีอาหารมื้อค่ำบริการเสริมให้เป็นพิเศษด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเขาถือเพียงศีลห้าที่เป็นนิจศีล ไม่ได้ครองศีลแปดอย่างที่หลายคนเข้าใจ (เว้นแต่ผู้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดเป็นการส่วนตัวเท่านั้น) ในทางอักษรศาสตร์จีน อักษรตัว “แจ” มีพัฒนาการมาจาก ตัวอักษร ฉี “ 齊 ” ซึ่งแปลว่าบริบูรณ์ , เรียบร้อย อักษรแจเกิดจากการเพิ่มเส้นตั้งและสองจุด ( 小 ) เข้าไปกลางอักษรฉี ทำให้เกิดตัว ซื ( 示 ) ซึ่งแปลว่าการสักการะ อยู่ในแก่นกลางของตัวฉี
แจ( 齋 ) จึงมีความหมายว่า การรักษาความบริสุทธิ์(ทั้งกายและใจ)เพื่อการสักการะ หรือ การปฏิบัติบูชาถวายเทพยดาซึ่งการอธิบายในแนวทางนี้จะสอดคล้องกับ คำว่า “ 齋醮 ” ในลัทธิเต๋า ซึ่งย่อมาจากคำว่า 供齋醮神 ที่แปลว่าการบำเพ็ญกายใจให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นสักการะบูชาเทพยดาความหมายของแจในศาสนาอิสลามศัพท์คำว่า ศีลแจ / 齋戒 ในภาษาจีน นอกจากใช้ในลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธแล้ว ยังหมายถึง “ศีลอด” ที่ถือปฏิบัติในเดือนถือศีลอดของชาวจีนอิสลาม สาระของศีลก็คือการห้ามรับประทานอาหารใดๆในระหว่างเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจวบจนลับขอบฟ้า ตลอดเดือนถือศีลอด
แจในวัฒนธรรมดั่งเดิมของจีน ศัพท์ แจ พบในเอกสารจีนเก่าที่มีอายุกว่าสองพันปีหลายฉบับ เช่น 禮記 , 周易 , 易經 , 孟子 , 逸周書 (เอกสารที่อ้างนี้ปัจจุบันถือว่าเป็นคัมภีร์ในลัทธิหยู) เอกสารเหล่านั้นยังใช้อักษรตัวฉี(齊 )แต่เวลาอ่านออกเสียงกลับต้องอ่านออกเสียงว่า ไจ เช่น คำว่า ไจเจี๋ย / 齊潔 หรือ ไจเจี้ย / 齊戒 ซึ่งก็คือการออกเสียงแจในสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง อักษรฉีในเอกสารนั้นนักอักษรศาสตร์ตีความว่าแท้จริงแล้วก็คืออักษรตัวแจหรือใช้แทนตัวแจ แจที่ว่านี้หาได้หมายถึงการงดกินของสดคาว หรือ การงดรับประทานอาหารหลังเที่ยง หากหมายถึงการชำระล้างร่างกาย สงบจิตใจ และสวมใส่เสื้อผ้าใหม่สะอาด เป็นการเตรียมกายและใจให้บริสุทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมสักการะบูชา ขอพร หรือแสดงความขอบคุณต่อเทพยดาแห่งสรวงสวรรค์เจเพื่อการจำแนกความเคร่งครัดของภิกษุฝ่ายมหายาน
ศีลของภิกษุฝ่ายมหายาน ในส่วนเกี่ยวกับการฉันของภิกษุแตกต่างจากฝ่ายเถรวาททั้งมีการจำแนกเป็นสองลักษณะตามสำนักศึกษาได้แก่
1.เหล่าที่ถือมั่นในศีลวิกาลโภชน์และฉันอาหารเจ จะไม่ฉันอาหารหลังอาทิตย์เที่ยงวัน เรียก ถี่แจ /持齋
2.เหล่าที่ถือมั่นแต่การฉันอาหารเจ เรียกถี่สู่ /持素
เจียะแจ


ความหมาย


เจียะแจ (食齋 ) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยะธรรมหลิ่งหนาน (領南)ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั่งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู ( 吃素 )ในภาษาจีนกลาง (สำเนียงปักกิ่ง)
เจียะ ( 食 ) ในภาษาถิ่นใต้ หากใช้ในความหมายของคำกิริยา แปลว่า กิน
แจ ( 齋 ) แปลว่า บริสุทธิ์ ( 清淨 ) ( อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน ,ไต้หวัน ) เจียะแจ หรือ ตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ(ในลัทธิกินเจ) ซึ่งหมายความถึงอาหารที่ไม่คาวหรือไม่เจือปนซากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมทั้งไม่ปรุงใส่พืชผักต้องห้าม
คำว่าเจียะแจนี้ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะไฉ่ (食菜) ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า “กินผัก” แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น




กินเจเพื่ออะไร?


ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้ กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภท
ชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นองเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น


ประโยชน์



การกินอาหารเจ นอกจากจะเป็นการถือศีลและรักษาประเพณีแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้
ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกได้หมดทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน สารอาหารที่มีคุณค่าในพืชผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการย่อยเป็นปกติ
เมื่อรับประทานเป็นประจำโลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลงทำให้อายุยืนยาวมีผิวพรรณสดชื่นผ่องใส นัยน์ตาแจ่มใสไม่พร่ามัวร่างกายแข็งแรงรู้สึกเบาสบายไม่อึดอัด มีสุขภาพพลานามัยดี
อวัยวะหลักสำคัญภายใน ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด และอวัยวะประกอบคือ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาอาหาร ถุงน้ำดี แข็งแรงทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์
ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้แก่
สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช
ยาฆ่าแมลง สารดีดีที
มลภาวะและก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ซึ่งแพร่กระจายปะปนไปในอากาศที่เราหายใจอยู่เป็นประจำและยังพบว่ามีปะปนอยู่ในแหล่งน้ำดื่มด้วย
กัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และในการทำสงคราม สารอาหารในพืชผักช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายสามารถทนต่อการทำลายจากรังสีต่างๆ ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้สูงกว่าคนปกติธรรมดาสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ในบรรดาผู้ที่กินอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำความเจ็บไข้ได้ป่วยมักไม่มีปรากฏโดยเฉพาะโรคที่รุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไต ไขข้ออักเสบ โรคเก๊าส์ โรคเบาหวานฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งในกระเพาะและลำไส้ โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบเลยในกลุ่มคนผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำ



หลักธรรมในการกินเจ

ในทัศนะของคนกินเจ การกินที่ทำให้ชีวิตผู้อื่นต้องเดือดร้อนล้มตายนั้น “มันมากเกินไป” ทั้งๆ ที่มนุษย์กินแต่อาหารพืชผักก็สามรถมีชีวิตอยู่ได้การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเองและดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กล่าวคือ ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน ไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตน การรับประทานสิ่งใดก็ตามที่ทำลายสุขภาพร่างกายของตนให้ทรุดโทรม คือ การเบียดเบียนตนเอง ปัจจุบันวิทยาการเจริญก้าวหน้าได้พิสูจน์ยืนยันว่าเลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย
ดังนั้นการกินเจจึงไม่ใช่เพื่อให้เกิดผลดีต่อจิตใจเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีสุขภาพพลานามัยที่ดีอีกด้วย ร่างกายและจิตใจเป็นของคู่กันมีความสัมพันธ์ส่งผลถึงกันคนเราย่อมไม่อาจจะรู้สึกเบิกบานสดชื่นร่าเริงได้ในขณะที่ร่างกายเจ็บป่วยทรุดโทรมย่ำแย่

การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วยสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้
-งดเว้นเนื้อสัตว์หรือทำอันตรายต่อสัตว์
-งด
นม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์
-งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
-งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น
ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ สิ่งเสพติดและของมึนเมาต่างๆ
-รักษา
ศีลห้า
-รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
-ทำบุญทำทาน
-นุ่งขาวห่มขาว
สำหรับผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยมแยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุด
ตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับเพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้องตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด

บทสัมภาษณ์บุคคลทั่วไป





ชื่อ นางอุมามัย ธันวิมา เพศ หญิง อายุ ๔๖ ปี
อาชีพ พนักงานรักษาความปลอดภัย องค์การทหารผ่านศึก
ประจำจุดที่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยบรูพา
สัมภาษณ์วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๐๐- ๑๔.๓๐
สัมภาษณ์ในหัวข้อ อาชีพและความสัมพันธ์ของการเรียนหนังสือ


"จากจุดเปลี่ยนของชีวิตทำให้เธอก้าวเข้าสู่การประกอบอาชีพที่ใครหลายคนมองไม่เห็นถึงความสำคัญหรือละเลยมันไป การสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเป็นคำตอบของคำถามทั้งหมด "


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าเริ่มเข้ามาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยขององค์การทหารผ่านศึกได้อย่างไร

คุณป้า >> (คุณป้ายิ้มก่อนตอบ กระซิบกับผู้สัมภาษณ์ว่า "จะสัมภาษณ์ทำไม?

ไม่เคยมีใครถามมาก่อน")
เดิมที่ป้าเคยทำงานเป็นรปภ. ผู้รับเหมามาก่อนนะ เงินที่ได้ไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ โกงค่าแรง

หักเงินต่างๆ พอมีคนแนะนำว่า รปภ. ของทหารผ่านศึกได้เงินดี จ่ายตรง

ป้าต้องฝึกการเข้าเป็น รปภ.ของทหารผ่านศึกประมาน ๕ วัน (๔๓ ปัจจุบัน ๔๖ ปี)

ระบบทหารตอนแรกป้าคิดว่าจะทำไม่ได้ อายุก็เยอะแล้ว แต่พอเห็นว่าป้าทำได้

เขาก็ให้ใบส่งตัวมาให้ป้าทำงาน ทำได้ปีกว่าก็ลาออก มาทำธุกิจที่บ้าน

พอทำซักพักมีความรู้สึกว่ามันจะล้ม เราก็กลับมาทำงาน รปภ. ตรงนี้ใหม่

คือ มาเก็บเงินให้พอใช้จุนเจือตัวเองและครอบครัว


ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมคุณป้าไม่เลือกเป็นอาชีพอื่นหล่ะครับ

คุณป้า >> อาชีพอื่นไม่ใช่ว่าป้าไม่เคยทำนะ ก่อนที่ป้าจะมาเป็น รปภ. ขององค์การทหารผ่านศึก ป้าเคยทำงานเป็นหัวหน้าแม่บ้านมาก่อน ด้วยความที่เรามีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าคนอื่น จึงทำให้เราได้เป็นหัวหน้าแม่บ้าน ส่วนใหญ่เลยเนี่ย แม่บ้านจะจบแค่ป.๔ แต่ป้าเนี่ยจบมศ.๕ หัวหน้าเขาก็จะมอบความไว้ใจให้เรา แต่อย่างที่บอกป้าไม่ชอบอยู่กับผู้หญิงเยอะๆ ความอิจฉาริษยา มันก็มี แต่ป้าก็ไม่เคยว่าอะไรเขาหรอกนะ เพียงแต่ว่าเห็นคนอื่นมาบอกว่า เอาเวลาทำงานไปนอน ป้าก็ตักเตือนกลับกลายเป็นป้าไปยุ่งเรื่องของเขา เพื่อความสบายใจป้าลาออกดีกว่า และพอดีก็ได้งานเป็น รปภ. ที่นี้ด้วยจึงเลือกที่นี้


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าเป็นคนจังหวัดอะไรค่ะ และ คุณป้ามีครอบครัวแล้วหรือยัง

คุณป้า >> ป้าเป็นคนอุบลราชธานี ป้ามีเคยมีครอบครัวแล้ว ทะเลาะกันบ้างอะไรบ้างตามประสา สุดท้ายก็เลิกกัน แต่ไม่ได้หย่านะ ตอนนี้ป้าก็ยังใช้นามสกุลเขาอยู่ แยกทางกันได้ซักประมาณ ๑๒ ปีกว่าๆ แล้วนะ ป้ามีลูกทั้งหมดแล้วนะ ก็ ๒ คน หญิงหนึ่งคน และ ชายอีกหนึ่งคน ตอนนี้ผู้หญิงก็ประมาณ ๒๘ ปี ส่วนผู้ชายก็ประมาณ ๒๖ ปี คือ ป้าเนี่ยแต่งงานตอนอายุยังน้อย ป้าแต่งตั้งแต่ อายุ ๑๘ แล้วหล่ะ ตอนนี้ลูกป้าทั้งสองคนก็มีครอบครัวกันหมดแล้วหล่ะ


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าช่วยเล่าตอนคุณป้ายังเด็กให้ฟังหน่อยได้ไหมค่ะ

คุณป้า >> ได้ๆ เล่าตั้งแต่เริ่มแรก เลยนะหนู คือ แม่เนี่ย (คุณป้าพูดแทนตัวเอง) เรียนบ้านนอกมาตั้งแต่เด็ก แม่จบป.๔ ยังไม่พอนะ คือเราอยากเรียนอีก พ่อ แม่ เราก็ดีเนอะ ส่งเสริมเราเต็มที่อยากเรียนอะไรให้เรียน ทั้งๆ ป้าก็รู้นะว่า หัวป้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็อยากเรียน ทีนี้ก้อมาเรียนต่อที่ บ้านตำบล ทางเดินไปโรงเรียนขรุขระมาก ดินแดง ลำบากเพราะว่ามันเป็นบ้านนอกจริงๆ แต่ป้าก้อไปเรียนนะ เรียนที่บ้านตำบล จนจบป.๗
ก็อยากเรียนต่ออีก เรียนมศ.๑ - มศ.๓ ที่โรงเรียนอำนาจเจริญ (แต่ก่อนเป็นอำเภออำนาจเจริญ) ทีนี้พอจบมศ.๓ แม่ก็ไปสอบเป็นหมอ เป็นพยาบาล แต่ตอนนั้นเขารับแค่ ๓ คน แม่ไม่มีใบเรียกชื่อมาเลยที่บ้าน แสดงว่าแม่สอบไม่ได้ ก็คิดว่า จบมาแค่มศ.๓ จะไปทำอะไรกับเขาได้ ก็เลยเรียนต่อ จนจบ มศ.๕ จ๊ะ


ผู้สัมภาษณ์ : พ่อ-แม่ ของคุณป้าให้ความสนับสนุนการเรียนอย่างเต็มที่เลยนะค่ะ อยากทราบว่า คุณป้าเป็นลูกคนเดียวหรือเปล่า

คุณป้า >> ไม่ๆ ป้ามีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน ป้าเป็นลูกคนที่ ๕ ป้าเป็นคนเดียวที่ได้รับการเรียนหนังสือ ง่ายๆเลยคือเรียนเยอะกว่าคนอื่นเขา ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ ไม่อยากให้คนอื่นเรียนนะ เขาก็อยากให้เรียน แต่คนอื่นๆเขาไม่เรียนกันเอง น้องชายป้านะ จบแค่ ป.๔ เอง ก็เลิกเรียนเสียแล้ว ตอนนั้นฐานะทางบ้างก็ปานกลาง สามารถส่งให้เรียนได้ แต่ไม่มีใครเรียน มีป้าคนเดียวที่อยากเรียน ทั้งๆที่รู้ว่าตอนนั้นสอบได้ ประมาณ ๖๐% เองนะ เกือบโง่เลยหล่ะ แต่ก็อยากเรียน อยากเป็นหมอ เป็นพยาบาลอยู่


ผู้สัมภาษณ์ : ในเมื่อเรียนมาถึงมศ.๕ แล้วก็เท่ากับเทียบเป็นเหมือนอนุปริญญา ทำไมถึงได้หยุดเรียน

คุณป้า >> ตอนนั้นที่เรียนก็เกิดไปพลาดท่าได้เสียกับแฟน จนตั้งท้องขึ้นมา ป้าไม่คิดว่ามันจะท้องนะ ตอนนั้น ยาคุมก็ไม่เคยเห็น การใช้ถุงยางอนามัยก็ยังไม่รู้จัก พอรู้ว่าตั้งท้อง เอาแล้วกูเสียสูญเลย คือ คนท้องก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรแล้วอ่ะหนูเอ๋ย ใจจริงอยากเรียนต่อนะ แต่พอเป็นแบบนี้ไม่เรียนแล้วดีกว่า มาดูแลลูกและสามีดีกว่า


ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นที่รู้ว่าท้องเนี่ยเราได้วางแผนอนาคตของลูกเราไว้รึเปล่า

คุณป้า >> บอกตรงๆไม่ได้คิดอะไรเลย คิดอย่างเดียวว่าท้องก็ต้องหยุดเรียน แต่แฟนป้าเขาก็อยากให้ป้าเรียนต่อนะ เขาตีป้าให้ป้าไปเรียนต่อ เพราะว่าที่บ้านเขาก็มีคนรับราชการเป็นครูเยอะ แต่ป้าไม่ได้คิดว่าอยากเรียนต่อ เพราะว่ามีลูกต้องดูแล เราก็ต้องดูแลเป็นอย่างๆไป


ผู้สัมภาษณ์ : ณ ตอนนี้ ยังอยากเรียนอยู่ไหม

คุณป้า >> ตอนนี้เหรอ ถ้าเป็นไปได้อยากเรียนนะ แต่อายุอานามของป้าก็ไม่น้อยแล้วนะ ถ้าเรียนจะเรียนที่ไหน แล้วเรียนจบแล้วจะทำงานอะไร เหมือนหนูๆได้หล่ะ เก็บเงินเอาไว้ให้หลานชายของป้าดีกว่า ส่งให้มันได้เรียนสูงๆ


ผู้สัมภาษณ์ : เหมือนทดแทนในสิ่งที่เราได้ขาดไปได้ไหมค่ะ

คุณป้า >> อืมเราไม่มีโอกาศตรงไหน เราก็ไปเติมเต็มให้กับหลานของเรา


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าคิดว่าการเรียนสำคัญไหม

คุณป้า >> สำคัญซิ มันสำคัญมานานแล้วนะ การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในโลกเลยนะ ถ้าเราไม่มีการเรียนรู้ เราก็จะอยู่กับคนอื่นเขาไม่ได้ แต่ก่อนคนที่เรียนนะ ถ้าไม่ได้จบออกมาเป็นครู พยาบาล หรือ หมอ ก็ไม่มีใครรับนะ ป้าจะเล่าเหตุการณ์ของการอยากเรียนเป็นพยาบาล หรือ หมอ ของป้าให้ฟัง คือ ตอนป้าอยู่ ป.๑ แม่ป้าก็เกิดอาการปวดท้องมาก สมัยนั้นหยูกยา หายากมาก มีหมอประจำหมู่บ้านคนหนึ่ง ป้ากับพี่สาวก็ไปปลุกให้เขามารักษาแม่ให้หน่อย หมอคนนั้นเขาไม่ยอมตื่น เรียกไปเถอะ เรียกยังไงก็ไม่ตื่น เขาบอกว่ามันดึกมากแล้ว หมอคนเนี่ยทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือฉีดยา ป้ากับพี่สาว ก็เลยต้องกลับไปเอาเกลือมาเผาไฟ และใบตองกล้วยอ่อน ให้แม่กินเอง แม่ก็อาการดีขึ้น เลยบอกกับแม่ว่า เดี๋ยวหนูจะมาตั้งใจเรียนเป็นหมอนะแม่ จะได้มารักษาแม่ จะได้ไม่ต้องไปปลุกหมอประจำหมู่บ้านให้ลำบากอีก คนเรียนหนังสือนะหนูนะ คือ ป้าสังเกตมาหลายครั้ง เหมือนเขาจะมีสังคมของเขาเอง คนที่ได้เรียนหน้าเขาจะแจ่มใส มีสัมพันธ์กับผู้อื่น ผิดกับคนไม่ได้เรียนหน้าตาจะบึ้งตึง ไม่มีสัมพันธ์กับใครมากนัก อย่างพวกหนูๆ ป้ายังแอบอิจฉานะที่ได้เรียนกันนะ คือดูรู้เลยว่าพวกหนูมีการศึกษากันมา ป้าเนี่ยจะสามารถสังเกตมองได้เลยว่าพวกไหน เป็นพวกไหน แม้การกิน การหยิบจับก็บอกได้ทันทีว่า เรียนมารึเปล่า ป้าสามารถดูได้ และก็ไม่ค่อยพลาดด้วย นี่ถ้าตอนนั้นป้าไม่ท้อง ป้าก็คงได้ใส่ชุดนักศึกษาอย่างนี้แล้ว เพื่อนป้ารุ่นราวคราวเดียวกันเลยนะ เขาเป็นใหญ่เป็นโตกันหมดแล้ว บางคนก็เป็นอาจารย์ใหญ่ตามโรงเรียนต่างๆ ดูเหมือนป้าเนี่ยจะย่ำตอก มากที่สุด

ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากกลับไปแก้ไขอดีตไหม

คุณป้า >> อยากไป อยากไปแก้ไขอะไรหลากหลายอย่าง คือ ไม่อยากท้อง อยากเรียนต่อให้สูงๆ จะได้ไม่ต้องมาเป็น รปภ. อย่างนี้ ไม่อยากขายบ้านไปด้วย เพราะเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่พ่อให้ไว้เราก็เอาไปขายเพื่อมาเสียค่าทำขวัญ ให้แก่เพื่อนของลูก ที่ลูกเป็นคนขี่รถแล้วเพื่อนลูกโดนรถเฉี่ยว ตอนแรกที่โรงพยาบาลคิดเงินมาป้าตกใจมาก ๖๐,๐๐๐ กว่าบาท ป้าก็ไม่รู้จะกู้หนี้ยืมสินใคร เขาได้ ป้าเลยต่อรอง ให้เหลือ ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท คนละครึ่ง ตอนนั้นป้าโมโหมาก เลยบอกให้ลูกไม่ต้องเรียนแล้ว ตอนนั้นลูกสาวยังเรียนอยู่ม.๖ เรียนแบบกระท่อน กระแท่นมาก เลยมาเรียนต่อกศน. จนจบม.๖ มา ลูกสาวก็อยากเรียนต่อไปสอบเทียบก็ติด
แต่แม่ไม่มีเงินส่ง เขาบอกกับแม่ว่า ถ้าแม่ให้เขาเรียนนะ จบป. ตรีมา เขาจะไม่ให้แม่ทำอะไรเลย (พูดถึงตรงนี้ น้ำตาของคุณป้าเริ่มคลอ) ซึ่งตรงนี้เราอยากกลับไปแก้ไขมันมาก ตอนนั้นเราโมโห พูดจาไม่ดีกับลูก เหตุนี้ก็เลยทำให้ลูกชายไม่ได้เรียนต่อด้วย แต่ตอนนี้เขามีครอบครัวเขาแล้วเราไม่ต้องห่วงอะไรมากมาย


ผู้สัมภาษณ์ : ถ้ามีเงินซักก้อนหนึ่งคุณป้าจะเอาไว้ทำอะไร

คุณป้า >> อยากเก็บเงินไว้ปลูกบ้าน ที่เราขายไปแล้ว เพราะแม่เราก็ยังอยู่ที่นั่น อีกทั้งเก็บเงินไว้ให้หลานชายส่งมันได้เรียนสูงๆ ให้มันมีความรู้มากกว่าแม่มัน สะใภ้ป้าคนเนี่ยนะ ท้องมาแล้ว ๔ เดือน แล้วมานอนกับลูกชายป้า สะใภ้เนี่ยเป็นเด็กกำพร้าเหมือนกัน ป้าเห็นว่าโอเค เลี้ยงไว้ก็ได้ สะใภ้คนเนี่ย ไม่ค่อยเป็นอะไร เขียนหนังสือก็ไม่เป็น เขียนได้เฉพาะชื่อตัวเอง อ่านก็ไม่ออก ปีนี้ ก็น่าจะอายุ ๒๐ แล้วมั้ง ป้าก็ต้องเลี้ยงลูกมันด้วย เลี้ยงสะใภ้ด้วย ขนาดทำความสะอาดบ้านก็ยังไม่มีความรู้ที่จะทำ คนไม่มีความรู้อะไรในสมองเลยลำบากจริงๆ ถ้าอย่างที่หนูบอกถ้าป้าเกิดมีเงินขึ้นมาจริงๆ ป้าจะทำอย่างนี้แหละ


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าอายุเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ คุณป้าคิดว่าจะปลดตัวเองออกจากเป็น รปภ. อย่างนี้เมื่อไหร่

คุณป้า >> น่าจะซักประมาณ ๕๐ กว่าๆ ถึงตอนนั้นคงเก็บเงินได้แล้วหล่ะ หนี้สินตอนนี้ก็ไม่มีอะไร น่าจะประมาณนั้นแหละ


ผู้สัมภาษณ์ : เวลาคนคิดกันว่าอาชีพ รปภ. เป็นอาชีพของคนที่ด้อยรู้สึกอย่างไร

คุณป้า >> คนที่ไม่ได้มาทำ ไม่รู้หรอก แต่สำหรับป้า ป้าภูมิใจ ป้าถือว่า ป้ามีสิทธิ์ที่จะดูแลอาคาร หนึ่งอาคาร เหมือนตัวอาคารนี้เป็น บ้านเรา คนเราเวลาอยู่บ้านก็ไม่อยากให้ของหาย ต้องรักษา ต้องดูแล เพียงแค่เปลียนจากตัวเราแทนที่จะมาดูแลเอง ก็จ้างคนอื่นเขามาดูแลแทนเท่านั้นเอง


ผู้สัมภาษณ์ : คิดว่ารักในอาชีพนี้หรือยัง

คุณป้า >> คิดว่ารัก ถ้าเกิดต้องออกจากที่นี่อีก ก็จะไปเป็น รปภ. ที่อื่นอีก คือ เรามีความพร้อมกับงานตรงนี้แล้วจริงๆ ถ้าไปทำอย่างอื่นคงไม่ดีเท่านี้อีกแล้ว


ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้ฝากอะไรกับคนที่มีโอกาสเรียนหนังสือ

คุณป้า >> อยากให้ทุกคนตั้งใจเรียนหนังสือ กันเยอะๆ เพราะว่าการศึกษาเป็นส่วนที่จะพัฒนาคนให้เป็นคน เวลาที่เห็นนักศึกษา ไม่ได้เข้าเรียน หรือ เข้าเรียนสายกัน เนี่ย อยากเดินไปบอก อยากเดินไปสอน แต่ก็กลัวว่าจะไปยุ่งอะไรกับเขา แต่อยากให้นึกถึงคนที่เขาไม่ได้มีโอกาสเรียนอย่างเรา นึกถึงคนที่ไม่มีแม้กระทั่งอุปกรณ์การเรียนไปเรียน หรือ ไม่มีแม้กระทั่งโรงเรียนให้เรียน วาสนาคนเรามันต่างกัน จงใช้วาสนาของเรานั้นให้คุ้มค่า ก่อนที่มันจะหมดไป

"และนี้คือบทสัมภาษณ์ของคุณป้า อุมามัย ธันวิมา พนักงานรักษาความปลอดภัยองค์การทหารผ่านศึก ประจำจุด สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา"

ก่อนที่จะไปเราก็ได้มอบผลไม้เป็นการขอบพระคุณที่คุณป้าให้ความร่วมมือกับเรามาเป็นอย่างดี เสียสละเวลาอันมีค่า สละหน้าที่ แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และมอบความไว้วางใจให้เราได้สัมภาษณ์ในวันนี้ด้วย


ขอขอบพระคุณ

Presentation Editors...

แนะนำว่าที่บรรณาธิการ


>> ชื่อ นางสาวนารีญา ซาฮิบ
กิดวันที่ ๑๙ กรกฏาคม ๒๕๓๑
ชื่อเล่น นัส


กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา
ชั้นปีที่ ๒ ภาควิชาสารสนเทศศึกษา
เอกบรรณาธิการศึกษา

เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๕-๙๒๒-๔๒๙๒
คติประจำใจ : ในโลกแห่งความจริง... ไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้






>> ชื่อ นายเอกสิทธิ์ เทียมธรรม

เกิดวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๑
ชื่อเล่น เอก

กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา
ชั้นปีที่ ๒ ภาควิชาสารสนเทศศึกษา
เอก บรรณาธิการศึกษา

เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๖-๖๖๙-๒๙๒๓
คติประจำใจ : สุขใดไม่เท่า...ล้วงกระเป๋าแล้วเจอตังค์