ความสำคัญของบรรณาธิการหนังสือ



เมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) หรือยุคสารสนเทศ(information age) ซึ่งคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญของสารสนเทศเปรียบเสมือนพลังหรืออำนาจ ใครที่ครอบครองและสามารถใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด คนผู้นั้นเสมือนผู้มีอำนาจอยู่ในมือ ด้วยประการนี้ทำให้ผู้คนเร่งที่จะหาความรู้ เพื่อเพิ่มระดับความรู้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษานั้นถือเป็นรูปแบบที่สำคัญของการเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อที่จะให้เท่าทัน เท่าทันต่อโลกที่ปรับเปลี่ยนและสลับซับซ้อนอยู่เสมอ ซึ่งในการศึกษาเล่าเรียนนั้น ก็ต้องมีคู่มือที่เรียกว่า ‘ตำราหรือหนังสือ’ รวมไปถึงวารสารนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เพราะการศึกษาไม่ได้กำหนดให้ผู้เรียน เรียนรู้แต่ในตำรับตำราเพียงอย่างเดียว ทำให้ในปัจจุบันมีการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เรารู้จักกันในคำว่า ‘หนังสือ’ ขึ้นมามากมายโดยไม่ได้จำกัดแค่หนังสือเรียนหรือหนังสือวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งหนังสือวรรณกรรมต่างๆ, หนังสือนิทานสำหรับเด็ก. หนังสือพิมพ์รวมทั้งนิตยสารวารสาร เป็นต้น ทั้งที่ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ซึ่งหนังสือทุกเล่มนั้นมีกระบวนการของการผลิตที่สลับซับซ้อนต้องอาศัยความรู้ความสามารถโดยตรง ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่า กว่าจะมาเป็นหนังสือนั้น มีที่มาอย่างไร และมีการจัดการการกับการตีพิมพ์ เผยแพร่ เลือกเฟ้นเนื้อหา และถ้อยคำบทความที่เหมาะสมมาได้อย่างไร แม้กระทำการจัดทำรูปเล่มหนังสือ ซึ่งกว่าจะออกมาในรูปแบบที่สวยงามให้เราได้เห็นและเป็นเจ้าของนั้น ใครเป็นผู้ดูแลกระบวนการเหล่านี้ คนส่วนมากมักจะละเลยตรงจุดนี้ โดยมักจะสนใจกับความสวยงามของรูปเล่มหรือแค่ความนิยมชมชอบในตัวผู้เขียน ซึ่งกระบวนการของการผลิตหนังสือจะสำเร็จออกมาเป็นเล่มไม่ได้เลยถ้าเราขาดผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านภาษา และมีความรักในตัวอักษร(ทุกตัว)ซึ่งสามารถนำสิ่งต่างๆมาปรุงแต่งได้อย่างคมคาย ออกมาเป็นหนังสือที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ความถูกต้อง และความงามทางภาษา ซึ่งเราเรียกบุคคลผู้นี้ว่า ‘บรรณาธิการ (Editor)’ ราชบัณฑิตยสถาน(2538, หน้า 461) ให้คำนิยามไว้ว่า บรรณาธิการ คือ ผู้จัด เลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุงและรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์ บรรณาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว ให้ต้นฉบับงานเขียนสำเร็จเป็นสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยอาจดำเนินการคนเดียว หลายคน หรือเป็นคณะ และอาจมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะ ปริมาณ ความลึกซึ้งหรือหลากหลาย ความซับซ้อนของส่วนประกอบเนื้อหา หรือโอกาสสำคัญที่จะจัดพิมพ์ต้นฉบับงานเขียนชิ้นนั้น เราจะเห็นได้ว่าบรรณาธิการนั้นได้ทำหนังสือให้ออกมาให้ดีที่สุดเพื่อผู้อ่านแบบที่เรียกว่า ‘ปิดทองหลังพระ’ เพราะทำงานโดยใช้ความรู้ที่มีอยู่และใจรัก


หัวใจของบรรณาธิการคือ การเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์คือสิ่งพิมพ์ ลูกค้าคือผู้อ่าน ทำอย่างไรให้ตันฉบับกลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ประณีตด้วยเทคนิค เนื้อหาทรงคุณค่าให้ประโยชน์คุ้ม และได้รับการยกย่องในวงการ (จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 4-5)
งานบรรณาธิการเป็นงานอีกอาชีพหนึ่ง ที่ต้องใช้ศาสตร์ความรู้ด้านบรรณาธิการ(Editing) มาใช้ในการทำงาน เพื่อใช้กระบวนการจัดทำหนังสือเป็นไปอย่างราบรื่น จนสามารถผลิตหนังสือที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล การจัดพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราว ค.ศ. 868 และมีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันมีวิธีการและแนวปฏิบัติจนเกิดเป็นระบบการจัดทำหรือการผลิตหนังสือตามมาตรฐานขึ้น โดยอาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดบางประเด็น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูปแบบการจัดทำที่สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในอาเซียที่มีการผลิตหนังสือที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น




การพิมพ์และการผลิตหนังสือในเมืองไทย เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการผลิตหนังสือพิมพ์รายวันและหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่มในรูปแบบนิตยสาร วารสาร และหนังสือเป็นเล่ม พัฒนาการทางการพิมพ์ และการจัดทำหนังสือในเมืองไทยมีความเจริญรุดหน้ามาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบการพิมพ์ที่ทันสมัยในปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความเจริญในด้านระบบการพิมพ์และการผลิตสิ่งพิมพ์ก้าวหน้าไม่น้อยกว่าประเทศใดในแถบอาเซีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น แต่พัฒนาการด้านการจัดทำหนังสือ ในแง่ของการเขียนเนื้อหาสาระและการเปลี่ยนสภาพต้นฉบับงานเขียนให้ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือที่น่าอ่านตามมาตรฐานสากล หรือที่เรียกว่า “การบรรณาธิการ” นั้น กล่าวได้ว่า แทบไม่มีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งในแง่การปฏิบัติจริงในสำนักพิมพ์ทั้งหลายหรือในแง่การศึกษาเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ในขณะที่การจัดทำหนังสือพิมพ์รายวัน หรือการจัดทำนิตยสาร/วารสาร มีการเรียนรู้ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีผู้สำเร็จการศึกษาออกมาปฏิบัติงาน สืบทอดวัฒนธรรมการทำหนังสือพิมพ์ตามมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง

ในทางกลับกัน การจัดทำหนังสือเล่มยังไม่มีบุคลากรมืออาชีพ หรือบรรณาธิการมืออาชีพมาสืบสานวัฒนธรรมการผลิตหนังสือเล่มอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้รักการทำหนังสือเรียนรู้จากการปฏิบัติตามๆกันมา หรืออาจได้รับการอบรมเบื้องต้นมาบ้างจากสถาบันการศึกษา แต่เมื่อต้องมาปฏิบัติงานอย่างจริงจัง มักเกิดความไม่มั่นใจได้แต่อาศัยการศึกษาจากคู่มือปฏิบัติงานบรรณาธิกร ที่ผู้มีประสบการณ์ทางด้านนี้ได้รวบรวมไว้(จินตนา ใบกาซูยี, 2543, หน้า 6)
มกุฎ อรฤดี(2545) กล่าวในการอบรมวิชาหนังสือสำหรับบุคคลภายนอก ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า กระบวนการผลิตหนังสือนั้น มีรายละเอียดอันละเอียดอ่อนประณีตมากมาย การจะเรียนรู้ รู้จัก รู้สึก นึกคิด และทำหนังสือให้ดี ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ข้อสำคัญคือ ต้องมีรากฐานด้านความงาม ภาษา เข้าใจความเรียบง่าย เข้าใจชีวิต สนใจและรู้จักมนุษย์ ใฝ่รู้วิทยาการทั้งสิ้นทั้งปวงอันประกอบกันขึ้นเป็นสังคมหน่วยเล็กหน่วยใหญ่ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต และไกลกว่าอนาคต ประเทศไทยยังขาดหนังสือ และขาดบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือทุกด้าน ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็น นักเขียน บรรณาธิการต้นฉบับ บรรณาธิการต้นฉบับแปล ผู้ตรวจทานต้นฉบับ ผู้เขียนรูปประกอบ ออกแบบปก จัดรูปเล่ม แม้แต่นักวิจารณ์หนังสือก็แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีเลยหรือกรรมการตัดสินต้นฉบับ กรรมการตัดสินหนังสือ อันเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริมการเขียนก็ขาดแคลน ส่งผลให้การพิจารณาต้นฉบับและหนังสือที่ส่งเข้าประกวดด้อยคุณค่าไปด้วย ดังเห็นได้จากหนังสือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลชนะเลิศหลายเล่ม มีข้อผิดพลาดด้านภาษาไทยและเนื้อหานับร้อยแห่งทั้งๆที่มีกรรมการมากกว่า7คน มีบรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้เขียนคำนิยมที่มีชื่อเสียงลงชื่อรับรอง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การทำงานด้านหนังสือโดยไม่มีผู้ตรวจทานทุกขั้นตอน ไม่เชื่อระบบบรรณาธิการและระบบการตรวจสอบ ข้อบกพร่องผิดพลาดต่างๆอันรวมกันเข้าจนทำให้หนังสือที่ผลิตออกมาด้อยคุณภาพนั้น มีจุดสรุปปลายทางอยู่ที่สำนักพิมพ์ ผู้ที่รับเคราะห์ก็คือคนอ่าน โดยเฉพาะที่เป็นเด็กและเยาวชน


ภารกิจของบรรณาธิการ
งานบรรณาธิการเป็นทั้งศิลปะและงานฝีมือ(Art and craft) คือศิลปะที่เป็นความรู้เกี่ยวกับต้นฉบับว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับงานนั้น และเป็นงานฝีมือในด้านการจัดเตรียมต้นฉบับให้น่าอ่านเป็นที่ยอมรับของผู้อ่านโดยทั่วไป (O’Connor, 1978, p.1) ภารกิจหลักของบรรณาธิการก็คือการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดมาเผยแพร่ รองลงมาก็คือการช่วยเหลือผู้เขียนเพื่อจัดทำหรือผลิตงานที่มีคุณภาพออกมา (O’Connor, 1978, p.19)
บรรณาธิการมีงานหลายด้าน ทั้งบริหาร จัดการ หาเทคนิคที่เหมาะสมมาใช้จัดพิมพ์ ถ้าทำหน้าที่เฉพาะด้านจะมีชื่อหรือตำแหน่งโดยเฉพาะ เช่น บรรณาธิการใหญ่หรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ (Chief Editor) รองบรรณาธิการใหญ่ (Associate Editor) บรรณาธิการต้นฉบับ (Copy Editor) บรรณาธิการศิลป์ (Art Editor) (จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 5) ในบางสำนักพิมพ์ มีการแบ่งแยกงานออกเป็นอิสระจากกันเป็น 2 ลักษณะ คือ บรรณาธิการฝ่ายจัดหาต้นฉบับหรือฝ่ายสำนักพิมพ์ และฝ่ายต้นฉบับหรืออฝ่ายวิชาการ บทบาทหน้าที่สำคัญของบรรณาธิการ คือ การทำให้หนังสือที่ผู้เขียนแต่งขึ้นมีความน่าอ่าน สำนักพิมพ์บางแห่งมีความคาดหวังสูงมาก กล่าวคือ ให้บรรณาธิการรับผิดชอบดูแลต้นฉบับ จนถึงขั้นการจัดพิมพ์ แต่บางแห่งเพียงให้ตรวจสอบด้านภาษา การสะกดคำ และการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเท่านั้น
จินตนา ใบกาซูยี(2542, หน้า 326) กล่าวว่า โดยสรุป ภารกิจหลักของบรรณาธิการมี 2 ประการ คือ การจัดหาต้นฉบับและการบรรณาธิกรต้นฉบับ การบรรณาธิกรประกอบด้วย การตรวจแก้โครงสร้าง เนื้อหาสาระสำคัญ และการตรวจแก้ต้นฉบับทั้งเล่ม
บรรณาธิการฝ่ายจัดหาต้นฉบับ จะทำหน้าที่เสาะแสวงหาต้นฉบับและเจรจาต่อรองการทำสัญญากับผู้เขียน รวมทั้งพิจารณาต้นฉบับอย่างละเอียดในด้านขอบเขตเนื้อหา โครงสร้างความยาวของเนื้อหา รวมทั้งตรวจหาข้อความอันเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นอย่างร้ายแรง และการละเมิดลิขสิทธิ์
การที่มีข้อความระบุไว้ในสิ่งพิมพ์บางชิ้น เช่นในวารสาร ว่า บรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับความเห็นของผู้แต่ง ก็ไม่หมายความว่าบรรณาธิการจะปลอดจากความรับผิดชอบที่ได้พิมพ์เผยแพร่เรื่องนั้นไปได้โดยเฉพาะถ้าเป็นความเห็นในประเด็นที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทเป็นลายลักษณ์อักษรหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี จรรยาบรรณของนักวารสารศาสตร์เป็นสิ่งที่บรรณาธิการละเลยไม่ได้ (จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 5)
นอกจากนี้ ยังต้องประเมินแนวโน้มความต้องการของผู้อ่าน และรูปแบบช่องทางการจำหน่ายอีกด้วย อีกด้านหนึ่ง บรรณาธิการฝ่ายนี้ ยังทำหน้าที่ว่าจ้างการเขียนหนังสือบางเล่มที่คิดว่าจะทำตลาดได้ดี และประเมินข้อเสนอการว่าจ้างจากผู้เขียน หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การแก้ไขโครงสร้างเนื้อหาต้นฉบับและการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ ดูแลการผลิตเอกสารด้านส่งเสริมการขายและการติดต่อกับผู้เขียน ในบางครั้งบรรณาธิการกลุ่มนี้ยังต้องช่วยออกแบบหนังสือ และดูแลจัดการด้านรายรับรายจ่ายของสำนักพิมพ์อีกด้วย
ในปัจจุบันนี้ ยังมีผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการประจำ (In-house) ทำงานเต็มเวลาอยู่บ้าง แต่มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนสำนักพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่แทบไม่มีผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการอย่างแท้จริงเลย นอกจากนี้ สำนักพิมพ์บางแห่งเริ่มมีแนวคิดที่จะจ้างบรรณาธิการการอิสระ (Freelancers) ทำงานเป็นชิ้นงาน โดยทั่วไปแล้วบรรณาธิการอิสระนี้ มักทำงานในขอบเขตหน้าที่ที่จำกัด กล่าวคือ ทำหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายต้นฉบับเฉพาะชิ้นงานเท่านั้น (จินตนา ใบกาซูยี, 2542, หน้า 327)

ขั้นตอนและวงจรงานของบรรณาธิการอาจลำดับได้ดังนี้
1.การวางแผนการทำงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ การแบ่งงาน การกำหนดผู้รับผิดชอบ ขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลา ประมาณการค่าใช้จ่าย การคาดคะเนผล
2.การจัดหาต้นฉบับ บรรณาธิการมีหน้าที่เสาะหาต้นฉบับที่มีข้อมูลถูกต้อง บอกเล่าอย่าตรงไปตรงมา มีการอ้างอิงแหล่งที่ดี สื่อความได้ชัดเจน ให้ความรู้สึกเพลินอารมณ์ ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และอยากเรียนรู้ต่อไป
3.การับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ กรณีเนื้อหามีความซับซ้อน หรือมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหรือข้อทักท้วง ทั้งในทางวิชาการหรือทางกฎหมาย
4.การทำความตกลงกับผู้เขียน กรณีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละฝ่าย การทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรจะรัดกุมกว่าด้วยวาจา ส่วนหนึ่งอาจนำไปสู่การทำสัญญาต่อไป งานด้านนี้อาจต้องมีนิติกรร่วมด้วย
5.การจัดทำแฟ้มต้นฉบับ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ เช่น การติดต่อระหว่างผู้เขียนกับบรรณาธิการ ข้อตกลง สัญญา ข้อมูล เนื้อหา ภาพ หลักฐานอ้างอิงที่ค้นเพิ่มเติมระหว่างการตรวจแก้ต้นฉบับ
6.ประมาณการและกำหนดรูปเล่ม ในด้านความยาวของเนื้อหา ขนาดรูปเล่ม ตัวพิมพ์ การวางรูปหน้ากระดาษ
7.การอ่านตรวจต้นฉบับอย่างละเอียด เรียกตามศัพท์บัญญัติว่า การบรรณาธิกรต้นฉบับ โดยใช้คู่มือตรวจตามแบบเฉพาะของสำนักพิมพ์เอง หรือ แบบเฉพาะอื่นๆ เพื่อตรวจแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง ทั้งด้านเนื้อหาและส่วนประกอบ ความต่อเนื่องของเนื้อหา ระบบการจัดโครงสร้างเนื้อหา การอ้างอิง รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น
8.การแจ้งให้ผู้เขียนรับรู้การแก้ไขต้นฉบับ การแก้ไขต้นฉบับขึ้นอยู่กับทั้งบรรณาธิการและผู้เขียน และเป็นเรื่องเฉพาะกรณี รวมทั้งการเก็บบันทึกเรื่องนี้ไว้ในแฟ้มต้นฉบับด้วย
9.การพิมพ์ต้นฉบับ โดยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบต่างๆ แล้วแต่สำนักพิมพ์
10.การตรวจพิสูจน์อักษร ต้องทำหลายครั้งและหลายคน ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน
(จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2542, หน้า 4)
จากทุกๆหัวข้อที่กล่าวมานั้นเราจะเห็นได้ว่าในด้านการทำหนังสือนั้น หนังสือจะดีหรือไม่ดีนั้นจำเป็นจะต้องขึ้นอยู่ที่บรรณาธิการเพราะบรรณาธิการนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด บรรณาธิการนั้นจักต้องมีความพิถีพิถันตั้งแต่การเสาะแสวงหาสารสนเทศหรืองานเขียนที่ดีและมีประโยชน์ จากนั้นก็ต้องใช้ความประณีตในการตรวจทานอักษรของหนังสือทั้งเล่ม อีกทั้งต้องเลือกสรรสำนวนภาษาให้สละสลวยมีความถูกต้องและเกิดประโยชน์ รวมไปถึงการควบคุมการพิมพ์ เปรียบเสมือนประหนึ่งว่า เมื่อใดที่คิดจะทำอาหารที่ดีมีประโยชน์และรสชาติอร่อยนั้น เราต้องเสาะแสวงหาวัตถุดิบชั้นยอดจากทุกๆที่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อเราได้วัตถุดิบมาแล้ว ต่อให้วัตถุดิบนั้นดีแค่ไหน แต่ขาดคนปรุงแต่งก็ไร้ค่า ดังนั้นจึงต้องอาศัยกุ๊กยอดฝีมือ ที่มีฝีมือในการคัดสรรเลือกใช้วัตถุดิบอย่างสร้างสรรค์และต้องเกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีใจรักทำอาหาร มีความรู้ความสามารถในการปรุงแต่งอาหารให้ได้รสเลิศ รวมไปถึงมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดตกแต่งให้สวยงามพร้อมเสริฟ…โดยที่ผู้รับประทานนั้นรับประทานจนหมดเกลี้ยงจานพร้อมกับได้รับความสุขทางใจและได้ประโยชน์จากสารอาหารที่ได้ใส่ลงไปในอาหาร เมื่อนั้นอาชีพบรรณาธิการก็เช่นกันเพราะต้องลงลึกทุกรายละเอียด ลงมือทำด้วยสมอง สติปัญญา จิตวิญญาณและศรัทธาที่พร้อมจะผลิตหนังสือดีๆออกมา ให้ผู้คนได้อ่านเพื่อที่จะได้ซึมซับในความรักในการอ่านและความรักที่มีต่อหนังสือพร้อมกับนำความรู้ต่างๆที่เรียงรายอยู่ในนั้นออกมาใช้เพื่อนำความก้าวหน้ามายังประเทศและนำความจริงที่ถูกต้องมาสู่สังคมสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: