บทสัมภาษณ์อาจารย์



ชื่อ ผศ.ฉลวย นามสกุล มงคล เพศ หญิง อายุ ๕๗ ปี
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยบูรพา
สัมภาษณ์วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เวลา ๑๑.๓๐-๑๓.๐๐ น.

สัมภาษณ์ในหัวข้อ หนังสือและงานบรรณาธิการ



"ทุกวันนี้อยากฝากความหวังไว้กับพวกหนูที่จะทำหนังสือที่ดีมีคุณภาพออกมา"

สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาว นารีญา ซาฮิบ เเละ กระผมนาย เอกสิทธิ์ เทียมธรรม

นิสิตชั้นปีที่ ๒ สาขาวิชาบรรณาธิการศึกษา ภาควิชาสารสนเทศศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ฉลวย มงคล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา



ผู้สัมภาษณ์ : สวัสดีค่ะอาจารย์ ก่อนอื่น ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยเล่าประวัติความเป็นมาอย่างย่อๆของอาจารย์ด้วยค่ะ
อาจารย์ : ยินดีค่ะ อาจารย์ชื่อฉลวย มงคล ตามที่หนูกล่าวมาแล้ว เดิมทีเนี่ยอาจารย์เป็นคนจังหวัดอ่างทองค่ะ อาจารย์จบการศึกษาขั้นต้นอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง จบ ป.๗ ปัจจุบันก็เป็นประถมศึกษาปีที่ ๖ เรียนต่อที่ ม.๑ จนจบ หลังจากนั้นก็มาเรียนต่อ บกศ. ประกาศนียบัตรชั้นต้น ๒ ปี และได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อ บกศ. ชั้นสูงวิชาครูเหมือนกันอีก ๒ ปี ตอนนั้นเลือกเป็นเอกภาษาไทย วิชาโทภาษาอังกฤษและสังคม เรียนวิทยาลัยการศึกษาพระนคร ๒ ปี และย้ายมาเรียนที่บางแสน ๒ ปี จะเห็นได้ว่าที่ชอบเรียนภาษาไทยมันอาจจะเกิดมาหลายอย่าง คือ อาจารย์เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และชอบแต่งกลอนและแข่งได้ที่ ๒ ของประเทศ ตอนนั้นอาจารย์ยังจำได้ว่า แต่งกลอนเป็นวันลอยกระทง ด้วยความที่เรายังเด็กและไม่คิดว่าเราจะได้รางวัล พอได้รับรางวัลมาทำให้รู้สึกภูมิใจ ทำให้เราอยากที่จะอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทำให้เราแต่งกลอนได้เก่งๆ อีกอย่าง แม่ของอาจารย์ก็เป็นคนที่อ่านหนังสือมากเหมือนกัน แต่แม่ของอาจารย์จบแค่ ป.๔ เองนะ แต่ถ้าเทียบป.๔ สมัยโน้นกับป.๖ สมัยนี้ ความรู้ป.๔ยังแน่นกว่าอีก พออาจารย์เนี่ยเลือกเรียนเอกไทย อาจารย์ก็จะมุ่งเประเด็นไปที่การเป็นครู เพราะอาจารย์ชอบสอน ชอบสอนพี่ สอนเพื่อน สอนน้อง อาจารย์ก็เลยไปสอบบรรจุที่จังหวัดสิงห์บุรี สอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แล้วก็ย้ายกลับมาที่ภูมิลำเนาเดิม คือจังหวัดอ่างทอง ก็สอนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษเหมือนเดิม พอ ๒๕๒๕ ศึกษาต่อปริญญาโทที่ศิลปากร วังท่าพระ ตอนนั้นยังไม่มีการทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์เลยจบออกมา ๒ ปีครึ่ง แล้วมาที่จังหวัดอ่างทอง แล้วมาช่วยราชการที่วิทยาลัยบางแสน พ.ศ ๒๕๓๕ และพอปี พ.ศ ๒๕๓๖ ก็มาบรรจุที่นี่เลยจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ก็สอนภาษาไทยและภาษาเขมรด้วย เพราะว่าอย่างที่เคยบอกแล้วว่าอาจาย์จบจารีตตะวันออก ภาษาเขมร




ผู้สัมภาษณ์ : อย่างที่อาจารย์เคยบอกว่าอาจารย์ชอบอ่านหนังสือ อาจารย์ชอบอ่านหนังสือแนวไหน ประเภทไหนคะ แล้วอาจาย์มีหนังสือที่จะแนะนำหนังสือให้กับคนสมัยใหม่ไหมคะ?
อาจารย์ : มีค่ะก็จะเป็นพวกร้อยกรอง บทกวีนิพนธ์สมัยเก่าๆ พวกนวนิยาย นวนิยายเนี่ยจะคล้ายคลึงกับคนสมัยนี้ คล้ายๆว่าจะสะท้อนปัญหาทางสังคม แต่ถ้าหนังสือที่แนะนำให้กับคนรุ่นใหม่ ก็อยากจะแนะนำพวกหนังสือพิมพ์ เพราะว่าเราต้องการความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เราจะได้ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง และอีกอย่างที่จะแนะนำต่อเด็กในสังคมสมัยนี้ที่ขาดกันมาก ก็คือ จำพวกวรรณกรรมและวรรณคดีต่างๆ หนูรู้จักขุนช้างขุนแผนไหมคะ ?
ผู้สัมภาษณ์ : (อมยิ้ม)
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์คิดว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ในปัจจุบัน มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างไร?
อาจารย์ : ถ้าเป็นรูปแบบเล่มก็คิดว่าดีอยู่แล้วนะ ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน อกีอย่างการทำหนังสือเล่มก็มีบรรณาธิการอย่างพวกหนูคอยดูแลอยู่ทุกขั้นตอน แต่ถ้าเป็นในรูปแบบของวารสาร คุณภาพก็เยอะนะอาจารย์ชอบอ่านหนังสือ สกุลไทย มีคอลัมน์หลากหลาย ไม่ได้มุ่งไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง




ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์คิดว่า ตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้อาจารย์คิดว่าอาจารย์อ่านหนังสือมามากพอหรือยังคะ?
อาจารย์ : อาจารย์คิดว่ายังไม่พอนะ การอ่านหนังสือยังไม่มีวันที่สิ้นสุด เราจะต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลา เพราะถ้าเกิดเราหยุดอ่าน ก็เหมือนเราหยุดอยู่กับที่ไม่ทันสมัย เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงยังไม่คิดว่ามันพอ สำหรับการอ่านของอาจารย์
ผู้สัมภาษณ์ : จากการวิจัยที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแล้วปีละไม่เกิน ๖ บรรทัด อาจารย์คิดยังไงกับข้อความนี้?
อาจารย์ : ความจริงข้อความนี้อาจารย์ได้พบได้เห็นมาเยอะ แต่เคยทราบถึงแหล่งที่มาไหม ว่าคนที่เค้าลงพื้นที่วิจัยน่ะ เค้าสำรวจจากประชากรที่ไหน ประชากรจากบนดอยหรือเปล่า หรือจากประชากรที่ไม่มีการศึกษา ลองคิดดูถ้าเกิดมาลงพื้นที่ที่ม.บูรพา คนตั้งหลายหมื่นคน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเฉลี่ยแล้วได้ปีละ ๖ บรรทัด เหมือนข้อความนี้เป็นการปลุกกระแสให้คนหันมาอ่านหนังสือกันมากกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุด เวลานิสิตเรียนนิสิตก็ต้องถูกให้อ่านหนังสืออยู่แล้ว ถึงแม้นิสิตจะไม่เต็มใจก็ตาม เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อความนี้





ผู้สัมภาษณ์ : ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามาในการให้ข้อมูลข่าวสารกับคนมากยิ่งขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอาจได้รับมาผิดๆ ถ้าเกิดมีผู้ดูและเกี่ยวกับการให้ข้อมูลข่าวสารตรงนี้ อาจารย์คิดว่ามันจะดี และเหมาะสมไหมคะ?
อาจารย์ : ที่เรียกตัวเองว่าเป็นบรรณาธิการใช่ไหม ก็ดีนะ อาจารย์คิดว่าดี เพราะว่าบรรณาธิการตามความคิดของอาจารย์ต้องเป็นผู้ดูแล จัดทำหนังสือ ตรวจแก้ดูภาษา เรียกง่ายๆคือทำตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับสิ่งที่ดีๆ เพราะฉะนั้นอาจารย์คิดว่า บรรณาธิการเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดทำหนังสือ หรือการให้ข้อมูลข่าวสาร
ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากที่สัมภาษณ์อาจารย์มาพอสมควรแล้ว อาจารย์พอจะทราบไหมว่ามหาวิทยาลัยของเรา ได้เปิดการเรียนการสอนบรรณาธิการศึกษา ของภาควิชาสารสนเทศศึกษา อาจาย์มีความคิดเห็นว่าอย่างไร?
อาจารย์ : อาจารย์ต้องตอบตามตรงว่าอาจารย์ไม่ทราบ เพราะเดิมทีภาควิชานี้เป็นภาคของวิชาบรรณารักษศาสตร์ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลหนังสืออยู่แล้ว ถ้าเปิดการบรรณาธิการการศึกษาขึ้นมาด้วย ก็เป็นการดี เพราะเหมือนเรามีความรู้เกี่ยวกับการดูแลหนังสืออยู่แล้ว เป็นการเกื้อหนุนกันเข้าไปใหญ่

ผู้สัมภาษณ์ : สุดท้ายนี้อยากให้อาจารย์ฝากอะไรเกี่ยวกับวงการหนังสือค่ะ
อาจารย์ : ในด้านการทำหนังสือ หนังสือจะดีหรือไม่ดี หนังสือจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่ที่บรรณาธิการ ความจริงแล้วอาจารย์เคยรู้จักกับบรรณาธิการที่ทำวารสารของมหาวิทยาลัยนี้ อาจารย์ได้เคยมีโอกาสได้เขียนบทความและมีโอกาสได้ตรวจทานอักษรของวารสารทั้งเล่ม อาจารย์ค่อนข้างที่จะเห็นการทำงานว่ามีความยากง่ายแค่ไหน ในอนาคตข้างหน้า ในฐานะที่หนูจะก้าวไปเป็นบรรณาธิการ อยากให้หนูผลิตหนังสือดีๆออกมา ให้คนอื่นได้อ่าน เพื่อนำความก้าวหน้ามายังประเทศและนำความจริงที่ถูกต้องมาสู่สังคม...



ผู้สัมภาษณ์ : ขอขอบพระคุณอาจารย์สำหรับวันนี้ ที่ให้ความกรุณาให้พวกหนูได้สัมภาษณ์อาจารย์ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์มาเป็นวิทยาทานให้ผู้อื่นต่อไป ขอขอบพระคุณค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: