บทสัมภาษณ์บุคคลทั่วไป





ชื่อ นางอุมามัย ธันวิมา เพศ หญิง อายุ ๔๖ ปี
อาชีพ พนักงานรักษาความปลอดภัย องค์การทหารผ่านศึก
ประจำจุดที่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยบรูพา
สัมภาษณ์วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๐๐- ๑๔.๓๐
สัมภาษณ์ในหัวข้อ อาชีพและความสัมพันธ์ของการเรียนหนังสือ


"จากจุดเปลี่ยนของชีวิตทำให้เธอก้าวเข้าสู่การประกอบอาชีพที่ใครหลายคนมองไม่เห็นถึงความสำคัญหรือละเลยมันไป การสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเป็นคำตอบของคำถามทั้งหมด "


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าเริ่มเข้ามาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยขององค์การทหารผ่านศึกได้อย่างไร

คุณป้า >> (คุณป้ายิ้มก่อนตอบ กระซิบกับผู้สัมภาษณ์ว่า "จะสัมภาษณ์ทำไม?

ไม่เคยมีใครถามมาก่อน")
เดิมที่ป้าเคยทำงานเป็นรปภ. ผู้รับเหมามาก่อนนะ เงินที่ได้ไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ โกงค่าแรง

หักเงินต่างๆ พอมีคนแนะนำว่า รปภ. ของทหารผ่านศึกได้เงินดี จ่ายตรง

ป้าต้องฝึกการเข้าเป็น รปภ.ของทหารผ่านศึกประมาน ๕ วัน (๔๓ ปัจจุบัน ๔๖ ปี)

ระบบทหารตอนแรกป้าคิดว่าจะทำไม่ได้ อายุก็เยอะแล้ว แต่พอเห็นว่าป้าทำได้

เขาก็ให้ใบส่งตัวมาให้ป้าทำงาน ทำได้ปีกว่าก็ลาออก มาทำธุกิจที่บ้าน

พอทำซักพักมีความรู้สึกว่ามันจะล้ม เราก็กลับมาทำงาน รปภ. ตรงนี้ใหม่

คือ มาเก็บเงินให้พอใช้จุนเจือตัวเองและครอบครัว


ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมคุณป้าไม่เลือกเป็นอาชีพอื่นหล่ะครับ

คุณป้า >> อาชีพอื่นไม่ใช่ว่าป้าไม่เคยทำนะ ก่อนที่ป้าจะมาเป็น รปภ. ขององค์การทหารผ่านศึก ป้าเคยทำงานเป็นหัวหน้าแม่บ้านมาก่อน ด้วยความที่เรามีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าคนอื่น จึงทำให้เราได้เป็นหัวหน้าแม่บ้าน ส่วนใหญ่เลยเนี่ย แม่บ้านจะจบแค่ป.๔ แต่ป้าเนี่ยจบมศ.๕ หัวหน้าเขาก็จะมอบความไว้ใจให้เรา แต่อย่างที่บอกป้าไม่ชอบอยู่กับผู้หญิงเยอะๆ ความอิจฉาริษยา มันก็มี แต่ป้าก็ไม่เคยว่าอะไรเขาหรอกนะ เพียงแต่ว่าเห็นคนอื่นมาบอกว่า เอาเวลาทำงานไปนอน ป้าก็ตักเตือนกลับกลายเป็นป้าไปยุ่งเรื่องของเขา เพื่อความสบายใจป้าลาออกดีกว่า และพอดีก็ได้งานเป็น รปภ. ที่นี้ด้วยจึงเลือกที่นี้


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าเป็นคนจังหวัดอะไรค่ะ และ คุณป้ามีครอบครัวแล้วหรือยัง

คุณป้า >> ป้าเป็นคนอุบลราชธานี ป้ามีเคยมีครอบครัวแล้ว ทะเลาะกันบ้างอะไรบ้างตามประสา สุดท้ายก็เลิกกัน แต่ไม่ได้หย่านะ ตอนนี้ป้าก็ยังใช้นามสกุลเขาอยู่ แยกทางกันได้ซักประมาณ ๑๒ ปีกว่าๆ แล้วนะ ป้ามีลูกทั้งหมดแล้วนะ ก็ ๒ คน หญิงหนึ่งคน และ ชายอีกหนึ่งคน ตอนนี้ผู้หญิงก็ประมาณ ๒๘ ปี ส่วนผู้ชายก็ประมาณ ๒๖ ปี คือ ป้าเนี่ยแต่งงานตอนอายุยังน้อย ป้าแต่งตั้งแต่ อายุ ๑๘ แล้วหล่ะ ตอนนี้ลูกป้าทั้งสองคนก็มีครอบครัวกันหมดแล้วหล่ะ


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าช่วยเล่าตอนคุณป้ายังเด็กให้ฟังหน่อยได้ไหมค่ะ

คุณป้า >> ได้ๆ เล่าตั้งแต่เริ่มแรก เลยนะหนู คือ แม่เนี่ย (คุณป้าพูดแทนตัวเอง) เรียนบ้านนอกมาตั้งแต่เด็ก แม่จบป.๔ ยังไม่พอนะ คือเราอยากเรียนอีก พ่อ แม่ เราก็ดีเนอะ ส่งเสริมเราเต็มที่อยากเรียนอะไรให้เรียน ทั้งๆ ป้าก็รู้นะว่า หัวป้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็อยากเรียน ทีนี้ก้อมาเรียนต่อที่ บ้านตำบล ทางเดินไปโรงเรียนขรุขระมาก ดินแดง ลำบากเพราะว่ามันเป็นบ้านนอกจริงๆ แต่ป้าก้อไปเรียนนะ เรียนที่บ้านตำบล จนจบป.๗
ก็อยากเรียนต่ออีก เรียนมศ.๑ - มศ.๓ ที่โรงเรียนอำนาจเจริญ (แต่ก่อนเป็นอำเภออำนาจเจริญ) ทีนี้พอจบมศ.๓ แม่ก็ไปสอบเป็นหมอ เป็นพยาบาล แต่ตอนนั้นเขารับแค่ ๓ คน แม่ไม่มีใบเรียกชื่อมาเลยที่บ้าน แสดงว่าแม่สอบไม่ได้ ก็คิดว่า จบมาแค่มศ.๓ จะไปทำอะไรกับเขาได้ ก็เลยเรียนต่อ จนจบ มศ.๕ จ๊ะ


ผู้สัมภาษณ์ : พ่อ-แม่ ของคุณป้าให้ความสนับสนุนการเรียนอย่างเต็มที่เลยนะค่ะ อยากทราบว่า คุณป้าเป็นลูกคนเดียวหรือเปล่า

คุณป้า >> ไม่ๆ ป้ามีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน ป้าเป็นลูกคนที่ ๕ ป้าเป็นคนเดียวที่ได้รับการเรียนหนังสือ ง่ายๆเลยคือเรียนเยอะกว่าคนอื่นเขา ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ ไม่อยากให้คนอื่นเรียนนะ เขาก็อยากให้เรียน แต่คนอื่นๆเขาไม่เรียนกันเอง น้องชายป้านะ จบแค่ ป.๔ เอง ก็เลิกเรียนเสียแล้ว ตอนนั้นฐานะทางบ้างก็ปานกลาง สามารถส่งให้เรียนได้ แต่ไม่มีใครเรียน มีป้าคนเดียวที่อยากเรียน ทั้งๆที่รู้ว่าตอนนั้นสอบได้ ประมาณ ๖๐% เองนะ เกือบโง่เลยหล่ะ แต่ก็อยากเรียน อยากเป็นหมอ เป็นพยาบาลอยู่


ผู้สัมภาษณ์ : ในเมื่อเรียนมาถึงมศ.๕ แล้วก็เท่ากับเทียบเป็นเหมือนอนุปริญญา ทำไมถึงได้หยุดเรียน

คุณป้า >> ตอนนั้นที่เรียนก็เกิดไปพลาดท่าได้เสียกับแฟน จนตั้งท้องขึ้นมา ป้าไม่คิดว่ามันจะท้องนะ ตอนนั้น ยาคุมก็ไม่เคยเห็น การใช้ถุงยางอนามัยก็ยังไม่รู้จัก พอรู้ว่าตั้งท้อง เอาแล้วกูเสียสูญเลย คือ คนท้องก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรแล้วอ่ะหนูเอ๋ย ใจจริงอยากเรียนต่อนะ แต่พอเป็นแบบนี้ไม่เรียนแล้วดีกว่า มาดูแลลูกและสามีดีกว่า


ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นที่รู้ว่าท้องเนี่ยเราได้วางแผนอนาคตของลูกเราไว้รึเปล่า

คุณป้า >> บอกตรงๆไม่ได้คิดอะไรเลย คิดอย่างเดียวว่าท้องก็ต้องหยุดเรียน แต่แฟนป้าเขาก็อยากให้ป้าเรียนต่อนะ เขาตีป้าให้ป้าไปเรียนต่อ เพราะว่าที่บ้านเขาก็มีคนรับราชการเป็นครูเยอะ แต่ป้าไม่ได้คิดว่าอยากเรียนต่อ เพราะว่ามีลูกต้องดูแล เราก็ต้องดูแลเป็นอย่างๆไป


ผู้สัมภาษณ์ : ณ ตอนนี้ ยังอยากเรียนอยู่ไหม

คุณป้า >> ตอนนี้เหรอ ถ้าเป็นไปได้อยากเรียนนะ แต่อายุอานามของป้าก็ไม่น้อยแล้วนะ ถ้าเรียนจะเรียนที่ไหน แล้วเรียนจบแล้วจะทำงานอะไร เหมือนหนูๆได้หล่ะ เก็บเงินเอาไว้ให้หลานชายของป้าดีกว่า ส่งให้มันได้เรียนสูงๆ


ผู้สัมภาษณ์ : เหมือนทดแทนในสิ่งที่เราได้ขาดไปได้ไหมค่ะ

คุณป้า >> อืมเราไม่มีโอกาศตรงไหน เราก็ไปเติมเต็มให้กับหลานของเรา


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าคิดว่าการเรียนสำคัญไหม

คุณป้า >> สำคัญซิ มันสำคัญมานานแล้วนะ การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในโลกเลยนะ ถ้าเราไม่มีการเรียนรู้ เราก็จะอยู่กับคนอื่นเขาไม่ได้ แต่ก่อนคนที่เรียนนะ ถ้าไม่ได้จบออกมาเป็นครู พยาบาล หรือ หมอ ก็ไม่มีใครรับนะ ป้าจะเล่าเหตุการณ์ของการอยากเรียนเป็นพยาบาล หรือ หมอ ของป้าให้ฟัง คือ ตอนป้าอยู่ ป.๑ แม่ป้าก็เกิดอาการปวดท้องมาก สมัยนั้นหยูกยา หายากมาก มีหมอประจำหมู่บ้านคนหนึ่ง ป้ากับพี่สาวก็ไปปลุกให้เขามารักษาแม่ให้หน่อย หมอคนนั้นเขาไม่ยอมตื่น เรียกไปเถอะ เรียกยังไงก็ไม่ตื่น เขาบอกว่ามันดึกมากแล้ว หมอคนเนี่ยทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือฉีดยา ป้ากับพี่สาว ก็เลยต้องกลับไปเอาเกลือมาเผาไฟ และใบตองกล้วยอ่อน ให้แม่กินเอง แม่ก็อาการดีขึ้น เลยบอกกับแม่ว่า เดี๋ยวหนูจะมาตั้งใจเรียนเป็นหมอนะแม่ จะได้มารักษาแม่ จะได้ไม่ต้องไปปลุกหมอประจำหมู่บ้านให้ลำบากอีก คนเรียนหนังสือนะหนูนะ คือ ป้าสังเกตมาหลายครั้ง เหมือนเขาจะมีสังคมของเขาเอง คนที่ได้เรียนหน้าเขาจะแจ่มใส มีสัมพันธ์กับผู้อื่น ผิดกับคนไม่ได้เรียนหน้าตาจะบึ้งตึง ไม่มีสัมพันธ์กับใครมากนัก อย่างพวกหนูๆ ป้ายังแอบอิจฉานะที่ได้เรียนกันนะ คือดูรู้เลยว่าพวกหนูมีการศึกษากันมา ป้าเนี่ยจะสามารถสังเกตมองได้เลยว่าพวกไหน เป็นพวกไหน แม้การกิน การหยิบจับก็บอกได้ทันทีว่า เรียนมารึเปล่า ป้าสามารถดูได้ และก็ไม่ค่อยพลาดด้วย นี่ถ้าตอนนั้นป้าไม่ท้อง ป้าก็คงได้ใส่ชุดนักศึกษาอย่างนี้แล้ว เพื่อนป้ารุ่นราวคราวเดียวกันเลยนะ เขาเป็นใหญ่เป็นโตกันหมดแล้ว บางคนก็เป็นอาจารย์ใหญ่ตามโรงเรียนต่างๆ ดูเหมือนป้าเนี่ยจะย่ำตอก มากที่สุด

ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากกลับไปแก้ไขอดีตไหม

คุณป้า >> อยากไป อยากไปแก้ไขอะไรหลากหลายอย่าง คือ ไม่อยากท้อง อยากเรียนต่อให้สูงๆ จะได้ไม่ต้องมาเป็น รปภ. อย่างนี้ ไม่อยากขายบ้านไปด้วย เพราะเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่พ่อให้ไว้เราก็เอาไปขายเพื่อมาเสียค่าทำขวัญ ให้แก่เพื่อนของลูก ที่ลูกเป็นคนขี่รถแล้วเพื่อนลูกโดนรถเฉี่ยว ตอนแรกที่โรงพยาบาลคิดเงินมาป้าตกใจมาก ๖๐,๐๐๐ กว่าบาท ป้าก็ไม่รู้จะกู้หนี้ยืมสินใคร เขาได้ ป้าเลยต่อรอง ให้เหลือ ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท คนละครึ่ง ตอนนั้นป้าโมโหมาก เลยบอกให้ลูกไม่ต้องเรียนแล้ว ตอนนั้นลูกสาวยังเรียนอยู่ม.๖ เรียนแบบกระท่อน กระแท่นมาก เลยมาเรียนต่อกศน. จนจบม.๖ มา ลูกสาวก็อยากเรียนต่อไปสอบเทียบก็ติด
แต่แม่ไม่มีเงินส่ง เขาบอกกับแม่ว่า ถ้าแม่ให้เขาเรียนนะ จบป. ตรีมา เขาจะไม่ให้แม่ทำอะไรเลย (พูดถึงตรงนี้ น้ำตาของคุณป้าเริ่มคลอ) ซึ่งตรงนี้เราอยากกลับไปแก้ไขมันมาก ตอนนั้นเราโมโห พูดจาไม่ดีกับลูก เหตุนี้ก็เลยทำให้ลูกชายไม่ได้เรียนต่อด้วย แต่ตอนนี้เขามีครอบครัวเขาแล้วเราไม่ต้องห่วงอะไรมากมาย


ผู้สัมภาษณ์ : ถ้ามีเงินซักก้อนหนึ่งคุณป้าจะเอาไว้ทำอะไร

คุณป้า >> อยากเก็บเงินไว้ปลูกบ้าน ที่เราขายไปแล้ว เพราะแม่เราก็ยังอยู่ที่นั่น อีกทั้งเก็บเงินไว้ให้หลานชายส่งมันได้เรียนสูงๆ ให้มันมีความรู้มากกว่าแม่มัน สะใภ้ป้าคนเนี่ยนะ ท้องมาแล้ว ๔ เดือน แล้วมานอนกับลูกชายป้า สะใภ้เนี่ยเป็นเด็กกำพร้าเหมือนกัน ป้าเห็นว่าโอเค เลี้ยงไว้ก็ได้ สะใภ้คนเนี่ย ไม่ค่อยเป็นอะไร เขียนหนังสือก็ไม่เป็น เขียนได้เฉพาะชื่อตัวเอง อ่านก็ไม่ออก ปีนี้ ก็น่าจะอายุ ๒๐ แล้วมั้ง ป้าก็ต้องเลี้ยงลูกมันด้วย เลี้ยงสะใภ้ด้วย ขนาดทำความสะอาดบ้านก็ยังไม่มีความรู้ที่จะทำ คนไม่มีความรู้อะไรในสมองเลยลำบากจริงๆ ถ้าอย่างที่หนูบอกถ้าป้าเกิดมีเงินขึ้นมาจริงๆ ป้าจะทำอย่างนี้แหละ


ผู้สัมภาษณ์ : คุณป้าอายุเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ คุณป้าคิดว่าจะปลดตัวเองออกจากเป็น รปภ. อย่างนี้เมื่อไหร่

คุณป้า >> น่าจะซักประมาณ ๕๐ กว่าๆ ถึงตอนนั้นคงเก็บเงินได้แล้วหล่ะ หนี้สินตอนนี้ก็ไม่มีอะไร น่าจะประมาณนั้นแหละ


ผู้สัมภาษณ์ : เวลาคนคิดกันว่าอาชีพ รปภ. เป็นอาชีพของคนที่ด้อยรู้สึกอย่างไร

คุณป้า >> คนที่ไม่ได้มาทำ ไม่รู้หรอก แต่สำหรับป้า ป้าภูมิใจ ป้าถือว่า ป้ามีสิทธิ์ที่จะดูแลอาคาร หนึ่งอาคาร เหมือนตัวอาคารนี้เป็น บ้านเรา คนเราเวลาอยู่บ้านก็ไม่อยากให้ของหาย ต้องรักษา ต้องดูแล เพียงแค่เปลียนจากตัวเราแทนที่จะมาดูแลเอง ก็จ้างคนอื่นเขามาดูแลแทนเท่านั้นเอง


ผู้สัมภาษณ์ : คิดว่ารักในอาชีพนี้หรือยัง

คุณป้า >> คิดว่ารัก ถ้าเกิดต้องออกจากที่นี่อีก ก็จะไปเป็น รปภ. ที่อื่นอีก คือ เรามีความพร้อมกับงานตรงนี้แล้วจริงๆ ถ้าไปทำอย่างอื่นคงไม่ดีเท่านี้อีกแล้ว


ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้ฝากอะไรกับคนที่มีโอกาสเรียนหนังสือ

คุณป้า >> อยากให้ทุกคนตั้งใจเรียนหนังสือ กันเยอะๆ เพราะว่าการศึกษาเป็นส่วนที่จะพัฒนาคนให้เป็นคน เวลาที่เห็นนักศึกษา ไม่ได้เข้าเรียน หรือ เข้าเรียนสายกัน เนี่ย อยากเดินไปบอก อยากเดินไปสอน แต่ก็กลัวว่าจะไปยุ่งอะไรกับเขา แต่อยากให้นึกถึงคนที่เขาไม่ได้มีโอกาสเรียนอย่างเรา นึกถึงคนที่ไม่มีแม้กระทั่งอุปกรณ์การเรียนไปเรียน หรือ ไม่มีแม้กระทั่งโรงเรียนให้เรียน วาสนาคนเรามันต่างกัน จงใช้วาสนาของเรานั้นให้คุ้มค่า ก่อนที่มันจะหมดไป

"และนี้คือบทสัมภาษณ์ของคุณป้า อุมามัย ธันวิมา พนักงานรักษาความปลอดภัยองค์การทหารผ่านศึก ประจำจุด สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา"

ก่อนที่จะไปเราก็ได้มอบผลไม้เป็นการขอบพระคุณที่คุณป้าให้ความร่วมมือกับเรามาเป็นอย่างดี เสียสละเวลาอันมีค่า สละหน้าที่ แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และมอบความไว้วางใจให้เราได้สัมภาษณ์ในวันนี้ด้วย


ขอขอบพระคุณ

ไม่มีความคิดเห็น: